นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. ยังคงคาดการณ์เป้าหมายส่งออกรวมทั้งปี 67 เติบโตที่ 1-2% (ณ เดือนมี.ค. 67) แม้ยอดส่งออกในเดือน ม.ค.67 จะเติบโตถึง 10% แต่ยังต้องจับตาสถานการณ์ในช่วง Q1/67 เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้
ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญยังมีตัวแปรสำคัญจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่สินค้าเกษตรต้องเฝ้าระวังเรื่องภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนิญโญ
สำหรับการส่งออกไทยเดือนม.ค. 67 มีมูลค่า 22,649.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.0% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 784,580 ล้านบาท ขยายตัว 10.2% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนม.ค. ขยายตัว 9.2%)
ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,407.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 890,687 ล้านบาท ขยายตัว 2.8% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนม.ค. 67 ขาดดุลเท่ากับ 2,757.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 106,107 ล้านบาท
"ต้องจับตาดูสถานการณ์ Q1/67 แต่ขยายตัวแน่นอน จะมากหรือน้อยเท่านั้น ปัจจัยเดียวที่เราเป็นกังวลคือการฟื้นตัวของจีน เพราะผ่านตรุษจีนมาแล้วรู้สึกยังไม่อู้ฟู่เท่าที่ควร ขณะที่ตลาดยุโรป อินเดีย ซาอุดิอาระเบีย และเวียดนามมีอัตราการเติบโตดีพอที่เรายังสามารถพึ่งพาได้ต่อไป" นายชัยชาญ กล่าว
โดยปัจจัยเฝ้าระวังที่สำคัญ ได้แก่
1. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤตในทะเลแดง (Red sea) บริเวณช่องแคบบับ อัล-มันเดบ (Bab el-Mandeb Strait) มีสัญญาณการเจรจาหยุดยิงช่วงรอมฎอน 45 วัน และความขัดแย้งอื่น
2. ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิต อาทิ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบ 2 ค่าไฟฟ้าและค่าระวางเรือเส้นทางยุโรป ตะวันออกกลาง สหรัฐฯ ทรงตัวในระดับสูง ขณะที่ อุปทานในประเทศยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันภาคการผลิตบางอุตสาหกรรมไม่เกิดการประหยัดต่อขนาด และแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกได้ยาก
3. อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐยังคงทรงตัวระดับสูง โดยคาดว่าจะเริ่มพิจารณาปรับลดในเดือนพ.ค.
*ข้อเสนอแนะสำคัญต่อภาครัฐ
1. เร่งยกระดับ Smart & Green port ของท่าเรือหลักของประเทศ
- เสนอให้ท่าเรือแหลมฉบังอยู่ในพื้นที่โครงการ EEC เพื่อรองรับโครงการพัฒนาพื้นที่แหลมฉบัง Phase 3 และรองรับการขยายสิทธิประโยชน์นักลงทุนของ EEC ในพื้นที่ โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม
- เร่งสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี โดยเฉพาะการเร่งปรับปรุงสภาพโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมในท่าเรือแหลมฉบังและพื้นที่โดยรอบ เพื่อแก้ปัญหาการปนเปื้อนของละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่นและดิน และแมลง ที่ติดไปกับรถยนต์เพื่อการส่งออก ซึ่งปัญหาจะทวีความรุนแรงในช่วงฤดูร้อน
- เร่งเตรียมความพร้อมพื้นที่วางกองตู้สินค้าในท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเตรียมพื้นที่วางกองตู้สำหรับการส่งออกก่อนช่วงสงกรานต์
- พิจารณาการหมุนเวียนตู้คอนเทนเนอร์เปล่าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
2. เร่งจัดตั้งหน่วยงานกลาง (Focal point) ของไทยสำหรับรองรับระเบียบ EUDR มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป ในการขับเคลื่อน ยกระดับการส่งออกสินค้า 7 รายการ ที่กำหนดไว้ อาทิ ยางพารา โกโก้ กาแฟ น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง โค และไม้