ไทย-ออสเตรเลีย สานต่อหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ มุ่งผลักดันขยายการค้าลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 5, 2024 13:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ไทย-ออสเตรเลีย สานต่อหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ มุ่งผลักดันขยายการค้าลงทุน

ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้พบหารือทวิภาคีกับนายแอนโทนี แอลบาเนซี (The Honourable Anthony Albanese MP) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย พร้อมภาคเอกชนออสเตรเลียหลายราย

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ทั้ง 2 ได้หารือในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้

  • ด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เห็นพ้องในการส่งเสริมการค้าทวิภาคี โดยเฉพาะการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement: TAFTA) ซึ่งเติบโตมากถึง 186% โดยจะปรับปรุงความตกลงฯ ให้ทันสมัย สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันมากขึ้น

โดยนายเศรษฐา เน้นย้ำว่า ไทยมีจุดเด่นในการเป็นศูนย์กลางความมั่นคงด้านอาหารและผลิตภัณฑ์ การแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ (medical and wellness) รวมทั้งมีโครงการ Landbridge ที่สำคัญต่อการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างเอเชียตะวันออกและมหาสมุทรอินเดีย

  • ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไทยให้ความสนใจที่จะส่งเสริมการลงทุนและเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดจากออสเตรเลียในด้านเกษตรกรรม พลังงานสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอัจฉริยะ
  • ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ไทยคำนึงถึงร่างกฎหมายกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ (New Vehicle Efficiency Standard: NVES) ของรัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกรถยนต์ไปยังออสเตรเลียมากกว่า 200,000 คันต่อปี และมีรถกระบะเป็นสินค้าส่งออกหลัก

นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้นำมาตรฐานใหม่ไปใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกมีเวลาในการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาป ให้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นด้านสิ่งแวดล้อม และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน

  • ด้านการท่องเที่ยวและการศึกษา นายกรัฐมนตรี พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยว การจัดทำ MoU ด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเสนอแนะให้มีการส่งเสริมเที่ยวบินตรงระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มจำนวนโควตา Work and Holiday Visa ไทย-ออสเตรเลีย
  • ด้านการศึกษา นายกรัฐมนตรี ยินดีส่งเสริมการตั้งสาขาของสถาบันการศึกษาออสเตรเลียในไทย ส่งเสริมหลักสูตรอาชีวศึกษา โดยเน้นการแลกเปลี่ยนบุคลากรและร่วมพัฒนาหลักสูตร รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราระหว่างกัน เพื่อตอบโจทย์ความร่วมมือทางการศึกษา
  • ด้านความมั่นคงและด้านแรงงาน ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการทหาร และพัฒนาบุคลากรทางการทหารระหว่างกัน รวมทั้งยินดีกับความร่วมมือภายใต้โครงการ ASEAN-Australia Counter Trafficking (ASEAN-ACT) และการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์
  • ด้านแรงงาน นายกรัฐมนตรี พร้อมอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานของทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงกลุ่ม digital nomads จากออสเตรเลียมาไทย และแรงงานจากไทยไปออสเตรเลียที่ขาดแคลน

ขณะเดียวกัน ได้เสนอให้ออสเตรเลียพิจารณาถึงการจ้างงานชั่วคราวของเกษตรกรชาวไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งอาจริเริ่มเป็นโครงการนำร่อง หรือแต่ละพื้นที่ที่มีความต้องการแรงงานได้

  • ด้านความร่วมมือพหุภาคี นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ออสเตรเลียสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีของการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และสามารถร่วมมือกับอนุภูมิภาคฯ ในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายสนใจและสอดคล้องกับบริบทร่วมกันได้ โดยไทยพร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดในการดำเนินการตามแผนพัฒนาร่วมระหว่างออสเตรเลียและ ACMECS เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืนในอนุภูมิภาค
*ภาคธุรกิจสนใจลงทุนพลังงาน-โลจิสติกส์ในไทย

ในการหารือกับภาคเอกชน นายกรัฐมนตรี ได้พบกับบริษท Fortescue ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองแร่ขนาดใหญ่ของออสเตรเลีย (ปัจจุบันเป็นบริษัทถลุงสินแร่เหล็ก (Iron Ore) อันดับ 4 โลก ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และแบตเตอรี่อีวี) ซึ่งได้แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอร์รี่ไฮโดรเจน และไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทย พร้อมกล่าวชื่นชมนโยบายการผลิตพลังงานสีเขียว และเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ.2050 ของไทยด้วย

บริษัท Linfox ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์อัจฉริยะของออสเตรเลีย ในโอกาสนี้ Linfox สนใจเข้าเป็นผู้ให้บริการใน cold storage facility ที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงถึงการสร้างขึ้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปัจจุบัน บริษัทฯ ให้บริการแก่บริษัทต่างๆ ในไทย เช่น โลตัส และกลุ่มบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างกัน โดยใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บริษัท Redflow ซึ่งเป็นผู้ผลิตระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System, ESS) เทคโนโลยีสังกะสี-โบรมีน ปัจจุบันมีฐานการผลิตในประเทศออสเตรเลียและประเทศไทย โดย Redflow มีแผนจะลงทุนเพิ่มเติมในไทย แต่อยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการผลิตร่วมกับผู้ประกอบการไทย โดยนายกรัฐมนตรียืนยันพร้อมสนับสนุนและอำนวยความสะดวก โดยให้กระทรวงพลังงานช่วยผลักดัน และทำโรดโชว์เพื่อให้ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานเป็นอย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพ

บริษัท ANCA Group ซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตเครื่องขึ้นรูป CNC (CNC Grinding Machine) และระบบเครื่องจักรต่างๆ สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ รถยนต์ ยา ฯลฯ มีโรงงานผลิตจำนวน 2 แห่ง คือ ประเทศออสเตรเลีย (30% ของการผลิตทั้งหมด พร้อมศูนย์การออกแบบ) และประเทศไทย (70% ของการผลิตทั้งหมด) ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ จังหวัดระยอง โดยต้องการจะขยายฐานการผลิตเครื่องจักร แต่ติดขัดอยู่ที่ข้อตกลงทางการค้าของไทย (FTA) ที่ยังไม่ครอบคลุม นายกรัฐมนตรีจึงขอให้ รมว.ต่างประเทศ และผู้แทนการค้าไทยเร่งรัดการเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่างๆ เช่น EU เพื่อให้การค้าการลงทุนมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

บริษัท NextDC เป็นบริษัท Data Center ที่เข้ามาตั้งในประเทศไทย ที่มีลูกค้าหลักทั้งบริษัท Microsoft Amazon และ NVIDIA โดยอยากจะขยายการลงทุนการสร้าง Data Center ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเรื่องการจ้างงาน การถ่ายโอนเทคโนโลยี และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ