ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ปัจจุบันจำนวนคนโสดในหลายประเทศ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ที่ระบุว่า ในปี 66 ที่ผ่านมา มีคนโสดทั่วโลกมากถึงราว 2.12 พันล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 3 พันล้านคน ภายในปี 73
สำหรับประเทศไทยเอง ก็กำลังกลายเป็นสังคมแห่งคนโสดเช่นเดียวกัน เนื่องจากคนไทยมีแนวโน้มแต่งงานลดลง และเลือกที่จะใช้ชีวิตตัวคนเดียวมากขึ้น ไม่ต่างจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่เปิดเผยว่า คน Gen Y มีค่านิยมครองตัวเป็นโสด ไม่สมรส ไม่มีลูก และมุ่งทำงานเพื่อความสำเร็จ หรือให้ความสำคัญกับงานมากกว่าครอบครัวนั่นเอง สะท้อนได้จากสถิติการจดทะเบียนสมรสในไทย ที่มีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในทางกลับกัน ข้อมูลสถิติของกรมการปกครองยังบ่งชี้ว่า คนไทยมีแนวโน้มหย่าร้างเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ปรากฏการณ์คนโสดที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มีสาเหตุที่คล้ายคลึงกันจากหลายปัจจัย ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญประการแรก คือ การขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) ที่มีส่วนทำให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองใหญ่มีแนวโน้มที่จะครองตัวเป็นโสดมากขึ้น ประการต่อมา คือปัญหาความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจ (Economic factor) และประการสุดท้าย คือมุมมองเกี่ยวกับโลกและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงด้านหน้าที่การงาน ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ทำให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มีแนวโน้มครองตัวเป็นโสดกันมากขึ้น
อย่างไรก็ดี กระแสคนโสดดังกล่าว ส่งผลให้ประชากรกลุ่มนี้ กลายเป็นผู้บริโภคหลักในตลาดที่มีศักยภาพสูงและน่าสนใจ นอกจากคนโสดจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นทั่วโลกแล้ว ประชากรกลุ่มนี้ ยังมีอำนาจในการจับจ่ายสินค้าและบริการสูง รวมทั้งยังมีแนวโน้มปรนเปรอตัวเอง (Self indulgence) และกล้าใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อความสุขให้ตัวเองมากกว่าผู้บริโภคกลุ่มอื่นอีกด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนกลุ่มนี้ มีภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวันน้อยกว่าคนที่มีครอบครัวแล้ว และสามารถตัดสินใจใช้จ่ายเงินโดยไม่ต้องปรึกษาใคร จึงทำให้มีอิสระและมีความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายเงินสูง
ขณะเดียวกัน กระแสคนโสด ยังนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่กำลังเติบโตขึ้น และน่าจับตามอง โดยปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสคนโสดนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น
- ร้านอาหารสำหรับนั่งทานคนเดียว (Solo dining)
- ธุรกิจจัดส่งวัตถุดิบพร้อมปรุง (Meal kits delivery) เพื่อตอบโจทย์คนโสดวิถี Solo living ที่อยากทำอาหารทานเองแต่มีเวลาน้อย
- โปรแกรมการท่องเที่ยว (Solo travel) รวมทั้งห้องพักและกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะกับคนที่เดินทางท่องเที่ยวคนเดียว
- ที่อยู่อาศัยที่เหมาะและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนโสด
- ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง เพื่อตอบโจทย์คนโสดขี้เหงา
ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการคว้าโอกาสจากเทรนด์นี้ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและโมเดลธุรกิจ เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์และตรงใจผู้บริโภคกลุ่มนี้ โดยภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวและโมเดลในการทำธุรกิจเพื่อรองรับตลาดคนโสด ทั้งในเรื่องความต้องการที่มีความเฉพาะเจาะจง และแตกต่างจากผู้บริโภคกลุ่มอื่นในตลาด ไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต
ขณะเดียวกัน รวมไปถึงการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้มีความเฉพาะเจาะจง และเหมาะสมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้โดนใจลูกค้ากลุ่มนี้ เพราะนอกจากจะเป็นการรองรับความต้องการจากตลาดในประเทศที่เติบโตขึ้นแล้ว ยังสามารถขยายตลาดไปเจาะกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศได้อีกด้วย ท่ามกลางจำนวนคนโสดทั่วโลกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ
"แม้ว่าเทรนด์คนโสด จะกลายเป็นหนึ่งในวิกฤติด้านโครงสร้างสังคมและประชากรศาสตร์ แต่ในอีกนัยหนึ่ง สังคมตัวคนเดียวและเศรษฐกิจคนโสด (Solo economy) ก็กำลังนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่น่าจับตามองและไม่ควรมองข้าม" ศูนย์วิจัยฯ ระบุ