นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวในการเสวนา "อนาคตรถสันดาป-รถอีวี ไปทางไหน?" ว่า แม้ในปี 2566 จะมียอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพิ่มมากขึ้น แต่ในภาพรวมยังไม่ถือว่าเติบโตรุนแรง เพียงแต่เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นจากมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ ซึ่งปัจจุบัน มียานยนต์อีวีจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในไทยแล้ว 44 ยี่ห้อ โดย 37% เป็นยานยนต์อีวีที่มีราคาต่ำกว่าล้านบาท และเป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง
สำหรับการปรับเปลี่ยนการผลิตของผู้ผลิตชิ้นส่วน ควรต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจด้วย หากลงทุนผลิตสินค้าแล้วอาจขายไม่ได้ เพราะราคาสูงกว่าคู่แข่ง
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า หากเปรียบเทียบยอดขายยานยนต์อีวี ในปี 2566 พบว่า ไทย อยู่ที่ 7 หมื่นคัน อินโดนีเซีย อยู่ที่ 1 หมื่นคัน และมาเลเซีย อยู่ที่ 3 พันคัน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดยานยนต์อีวีเติบโตมาจากเรื่องราคาพลังงาน ซึ่งจะเห็นว่าที่มาเลเซีย ราคาน้ำมันอยู่ที่ลิตรละ 15 บาท จึงไม่จูงใจให้มีคนใช้รถอีวีมากนัก
นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนาวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ประเทศที่ไม่มีปัญหาเรื่องราคาพลังงานก็ยังใช้งานรถยนต์สันดาปต่อไป แต่จะทำอย่างไรให้สามารถใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ปัจจุบัน ประเทศไทยมียานยนต์อีวีใช้งานอยู่ราว 1 แสนคัน จากจำนวนรถยนต์ที่ใช้งานอยู่ที่หมด 44 ล้านคัน โดยในส่วนของรถกระบะยังไม่มีการผลิตยานยนต์อีวีเข้ามาทดแทน
"เห็นยอดขายแล้วอย่าเพิ่งตกใจ 7 หมื่นคันจากยอดขายทั้งหมด 7 แสนคัน แค่ 10% เอง ตลาดแค่เพิ่งเริ่มเทคออฟ" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
โดยล่าสุด จีนมีการผลิตยานยนต์อีวีชนิดใหม่ (EREV) ที่มีติดเครื่องยนต์สำรองเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้งานรถไฟฟ้า ให้ใช้งานวิ่งได้ระยะทางเกิน 1,000 กิโลเมตร ขณะที่ไทยต้องการใช้งานยานยนต์อีวีที่ใช้งานได้ระยะทาง 500 กิโลเมตร ก็เพียงพอแล้ว
"กระแสอีวี น่าจะเป็นโอกาสสำคัญจากปัจจัยแวดล้อม ซึ่งแต่ละตลาดจะตอบรับไม่เหมือนกัน หากเราสามารถผลิตรถที่มีความหลากหลาย ก็จะสร้างโอกาสให้ประเทศ...ไม่ควรต่อต้านกระแสโลก แต่ควรมองหาโอกาส" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว