นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) กล่าวว่า ราคาทองคำในตลาดโลกได้ปรับตัวขึ้นสูงสุดเป็นประวัติกาลครั้งใหม่ที่ระดับ 2,160 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ส่งผลให้นับจากต้นปีราคาทองคำปรับขึ้นมาแล้วกว่า 4.50% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นมาอย่างน่าสนใจในรอบนี้เกิดขึ้นนับตั้งแต่ก้าวสู่เดือน มีนาคม เนื่องจากได้รับแรงหนุนหลายปัจจัย ดังนี้
1. นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จากที่แม้ว่าช่วงก่อนนี้นักลงทุนจะลดความหวังในการลดดอกเบี้ยของเฟด จากมากสุดที่ 6 ครั้ง ลดลงมาอยู่ที่โซน 3-4 ครั้ง จึงเกิดแรงขายทองคำออกมา อย่างไรก็ดีตลาดได้ซึมซับปัจจัยดังกล่าวไปแล้ว ราคาทองคำจึงเริ่มฟื้นตัวอีกทั้งยังเริ่มมีความกังวลต่อภาคการจ้างงานที่ลดลง จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาทองคำกลับมาเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก
2. ธนาคารกลางทั่วโลกที่ถือครองทองคำมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ธนาคารกลางทั่วโลกได้เข้าซื้อทองคำกว่า 1,000 ตันต่อปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่จะมีการเข้าซื้อที่ประมาณ 400-600 ตันต่อปี
3. ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งนำไปสู่กระแส "De-dollarization" หรือการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐที่ใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือใช้ในการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลให้ความต้องการทองคำมีมากขึ้น
4. ทองคำได้ทรานส์ฟอร์มจากสินทรัพย์ทางกายภาพสู่การเก็งกำไรในโลกดิจิทัล ส่งผลให้เกิดแรงซื้อจากนักลงทุนใหม่เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะนับตั้งแต่การเกิดการระบาดของโควิด 19 เป็นต้นมา
ทั้งนี้หลังจากที่ราคาทองคำทำจุดสูงสุดใหม่ในระยะสั้นอาจจะมีแรงขายทำกำไรสลับออกมา แต่ภาพของทองคำในระยะยาวของปี 2567 ทองคำยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น โดยเป้าหมายใหญ่ของทั้งปี YLG ยังคงให้ไว้ที่ 2,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์เนื่องจากในครึ่งปีหลังเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ขาลง และตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะดำเนินนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยต่ำไปต่อเนื่อง 2-3 ปี ดังนั้นภาพใหญ่ 2- 3 ปี ทองคำจึงยังคงเป็นบวก
ส่วนราคาทองคำแท่งในประเทศ 96.5% เดินหน้าทำระดับสูงสุดเป็นประวัติกาลอย่างต่อเนื่อง โดยราคาทำระดับสูงสุดใหม่ที่ระดับ 36,350 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งนอกจากจะได้รับปัจจัยหนุนเช่นเดียวกับทองคำในตลาดโลก แล้ว ยังได้รับอานิสงส์มาจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอยู่ใกล้โซน 36 บาท ทั้งนี้สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในสกุลเงินบาทและไม่พลาดการทำกำไรส่วนต่างราคาทองคำในประเทศ