การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ผลการคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 โดยมีผู้แทนหน่วยงานราชการประชาชน เข้าร่วมประมาณ 300 คน
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการกทพ. เปิดเผยว่า รูปแบบการลงทุนโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กทพ.จะใช้วิธีร่วมลงทุนเอกชน (PPP) ระยะเวลา 25-30 ปี กรอบวงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสรุปผลการศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เดือน ก.ย. 2567 จากนั้น จะขออนุมัติรายงาน EIA ในปี 2568 และเสนอโครงการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562) และ เปิดประมูลคัดเลือกเอกชนในปี 2568-2570 ดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ระหว่างปี 2569-2571 ก่อสร้างได้ในปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการในปี 2573
โดยที่ปรึกษา ได้ทำการการทบทวนการศึกษาเดิม ที่กรมทางหลวง (ทล.) ได้ศึกษาออกแบบไว้ และได้พิจารณาแนวเส้นทางที่เหมาะสมของโครงการ ในปัจจุบัน พบว่าแนวเส้นทางบนเขตทางเดิมของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ด้านทิศใต้ ฝั่งเดียวกับแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ซึ่งเหตุผลที่ไม่เลือกรูปแบบก่อสร้างตรงกลางถนนมอเตอร์เวย์เพราะจะกระทบต่อการจราจร บนมอเตอร์เวย์ โดยกรณีก่อสร้างวางเสาตอม่อ ด้านข้างหรือช่องทางคู่ขนานมอเตอร์เวย์ จะทำให้การจราจรสามารถเคลื่อนตัวได้ และมีผลกระทบกระเวนคืนที่ดินไม่มาก และเท่าที่จำเป็นโดยจะพยายามใช้เขตทางของกรมทางหลวงให้มากที่สุด ถ้าพื้นที่มีข้อจำกัดจำเป็นต้องเวนคืน ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 2-3 จุด บริเวณสะพานเกือกม้า และทางขึ้นลงปลายโครงการ
ที่ปรึกษาจะศึกษารายละเอียด และจะมีการจัดประชุมอีก 2 ครั้งคือ การประชุมย่อยครั้งที่ 2 ช่วงต้นเดือน เม.ย. 2567 และการประชุมรับฟังความเห็นประชาชนครั้งที่ 3 ช่วงปลายเดือน เม.ย. - ต้นเดือน พ.ค. 2567
"การประชุม เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้รับทราบข้อมูลผลการคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการพัฒนาโครงการ ซึ่งในการประชุมครั้งต่อไป จะมีรายละเอียดเรื่องการเวนคืน และค่าลงทุน กรณีที่ประชาชนกังวล กทพ.จะดำเนินการอย่างรอบคอบและกำหนดแนวทาง เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ยืนยันว่ากทพ.ไม่ได้เน้นกำไรสูงสุด แต่ ก็ต้องไม่ขาดทุน ซึ่งโครงการนี้ การตัดสินใจ ต้องผ่านอีกหลายด่าน มีรายงาน EIA สผ.ต้องพิจารณาอนุมัติ และยังมีครม.หากผลตอบแทนไม่ดีพอก็อาจไม่ได้ทำก็ได้ ยืนยันไม่ได้เอาประชาชนมาร่วมประชุมเพื่อให้เป็นตัวประกอบ"ผู้ว่าฯกทพ.กล่าว