BAY คาดกรอบบาทสัปดาห์นี้ 35.20-35.70 จับตาเงินเฟ้อ-ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 11, 2024 12:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.20-35.70 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 35.40 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 1 เดือน หลังซื้อขายในช่วง 35.40-35.88 บาท/ดอลลาร์ ท่ามกลางการพุ่งขึ้นของราคาทองคำ และค่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลกที่ดิ่งลง

ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการทางการเงินประจำสภาว่า เฟดคาดว่าจะปรับลดดอกเบี้ยลงในอีกไม่นานนัก โดยระบุว่าอัตราเงินเฟ้อคลายตัวลงมากแล้ว แต่ผู้กำหนดนโยบายต้องการความมั่นใจมากขึ้น เกี่ยวกับการชะลอลงของเงินเฟ้อก่อนที่เฟดจะลดดอกเบี้ย ซึ่งขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งประธานเฟดประเมินว่า ไม่มีความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอนาคตอันใกล้ โดยเฟดเผชิญความท้าทาย 2 ด้าน คือ ความเสี่ยงที่ว่าอาจลดดอกเบี้ยช้าเกินไป และความเสี่ยงของการลดดอกเบี้ยเร็วเกินไป

ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีมติคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงสุดที่ 4.0% และส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในปีนี้ โดยระบุว่ามีความคืบหน้าอย่างน่าพอใจในการลดภาวะเงินเฟ้อในยูโรโซน โดยอีซีบีคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.3% ในปีนี้ ซึ่งลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 2.7% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อ จะชะลอตัวลงสู่ 1.9% ในปี 2568 ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย 2,602 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 198 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ระบุ ตลาดการเงินจะติดตามข้อมูลเงินเฟ้อ และยอดค้าปลีกเดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐฯ เป็นสำคัญ หลังการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกุมภาพันธ์ พุ่งขึ้น 275,000 ตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าที่นักลงทุนคาดไว้ อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นผิดคาดสู่ 3.9%

นอกจากนี้ ค่าจ้างขยายตัวต่ำกว่าคาด อีกทั้งการจ้างงานเดือนธันวาคม และมกราคม ถูกปรับทบทวนลงสุทธิ 167,000 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับที่เคยรายงานก่อนหน้านี้ ยืนยันมุมมองตลาดที่ว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยช่วงกลางปี

ขณะที่ผู้ร่วมตลาดคาดหวังว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อาจจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในการประชุมวันที่ 19 มีนาคม ขณะที่การเติบโตของค่าจ้างแข็งแกร่งขึ้น และน่าจะเอื้อให้บีโอเจยุติการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ

อนึ่ง เรามองว่า หากหลังจากบีโอเจปรับนโยบายแล้ว และส่งสัญญาณว่าไม่น่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นเพียงครั้งเดียว ฉากทัศน์ดังกล่าว จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เงินเยนฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ