นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวภายหลังรับฟังรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาหนี้เงินกู้แก่บุคลากรของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ว่า ขอบคุณทุกภาคส่วนที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหา ซึ่งเป็นบุคลากรที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศ ให้ได้มีทางออก ไม่หันหน้าไปพึ่งยาเสพติด หรือประพฤติทุจริต เพราะนั่นจะเป็นสารตั้งต้นความหายนะของประเทศ
พร้อมระบุว่า การที่ทุกภาคส่วนพยายามช่วยเหลือประชาชน ถือเป็นจิตสำนึกที่ดี เพราะปัญหาหนี้สินของบุคลากรภาครัฐ จะเป็นสารตั้งต้นความหายนะของประเทศ ทั้งนี้ ตนจะเข้าไปช่วยดูเรื่องการลดดอกเบี้ย และการขยายวงเงินสินเชื่อ ซึ่งผลการดำเนินงานในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าน่าพอใจในระดับหนึ่ง
"อย่างที่บอก ถ้าแบงก์ชาติไม่ลด อย่างน้อยหน่วยงานเหล่านี้ ก็มีจิตใต้สำนึกที่ดีที่มีการลดดอกเบี้ย ผมขอขอบคุณ เพราะการทำงานเหล่านี้ต้องทำด้วยใจจริงๆ เชื่อว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และเจ้าหน้าที่ระดับสูง ก็เห็นความลำบากของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเรื่องภาระหนี้สินหรืออะไรต่างๆ เหมือนที่ผมแถลงในที่ประชุมว่า มันเป็นสารตั้งต้นของหายนะของประเทศด้วย ต้องช่วยกันไปก่อนตอนนี้" นายเศรษฐา กล่าว
ส่วนความคืบหน้ากรณีดิจิทัลวอลเล็ต หลังครบกำหนดเวลา 1 เดือนในการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง หากคุยแล้วจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบ
ด้าน พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะรองประธานกรรมการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย กล่าวว่า ขณะนี้มีจำนวนหนี้รวมสูงกว่า 16 ล้านล้านบาท และสถานการณ์หนี้เสียในทุกประเภทสินเชื่อทวีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนจำนวนมาก
ทั้งนี้ โดยภาพรวม "หนี้สินทั้งนอกระบบ และในระบบ ในภาพใหญ่" ซึ่งแยกเป็นประเภทหนี้ต่าง ๆ ทั้งบ้าน เช่าซื้อรถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ สินเชื่อเกษตร หนี้ OD และหนี้อื่น ๆ ล้วนมีความซับซ้อน มีความไม่สมดุล และเป็นที่สังเกตได้ว่ามีความไม่เป็นธรรมในเชิงโครงสร้าง จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนอำนาจในการแก้ไขจากฝ่ายบริหารในด้านการจัดการของหน่วยงานนโยบาย และหน่วยงานกำกับ ฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อแก้ไขกฎหมายที่จำเป็น และฝ่ายตุลาการ เพื่อนำมาซึ่งกระบวนการไกล่เกลี่ยและการบังคับคดีที่เหมาะสม
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวต่อไปว่า การแก้ไขปัญหา "หนี้เงินกู้สวัสดิการ ของบุคลากรภาครัฐ" นับเป็นยอดหนี้ที่มีขนาดใหญ่ และมีความสำคัญ แต่ส่วนใหญ่ไม่ปรากฏในรายงานยอดหนี้ของศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จากจำนวนบุคลากรภาครัฐจำนวน 3.1 ล้านคน ที่ยังไม่รวมสมาชิกในครอบครัว เป็นลูกหนี้เงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ 1,378 แห่ง จำนวนลูกหนี้รวม 2.8 ล้านคน และมีธนาคารที่ให้สินเชื่อในลักษณะสวัสดิการร่วมด้วย อีกอย่างน้อย 3 แห่ง คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 3.0 ล้านล้านบาท
ในขณะที่ลูกหนี้จำนวนหนึ่ง ยังคงชำระหนี้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์และธนาคารอยู่ แต่ปรากฏว่ามีบุคลากรภาครัฐจำนวนมาก และมากขึ้น ที่มีรายได้สุทธิหลังหักชำระหนี้ และเงินค่างวดรายเดือนแล้ว มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และบุคลากรของรัฐจำนวนมากขึ้น ๆ ที่กำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จนกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงต่อเนื่อง จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน
- กองทัพเรือ กำลังพล 40,000 นาย มีหนี้สิน 10,000 นาย
- กองทัพอากาศ กำลังพล 47,000 นาย มีหนี้สิน 8,000 นาย
- ตำรวจ กำลังพล 2 แสนราย มีหนี้สิน 1.5 แสนนาย คิดเป็น 80% หรือยอดหนี้รวม 170 ล้านบาท
- ครู 4.5 แสนคน มีหนี้สิน 4 แสนคน
- บุคลากรทางการแพทย์ 4.2 แสนคน มีหนี้สิน 25%
ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า ธนาคารฯ ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อรวมหนี้อย่างยั่งยืน ร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้มีรายได้ในแต่ละเดือนเหลือเกิน 30% ซึ่งเพียงพอต่อการดำรงชีพ ให้สามารถชำระหนี้ได้ตามความเหมาะสม ไม่ผลักดันให้ไปกู้หนี้นอกระบบ โดยมีวงเงินสินเชื่อ 5 หมื่นล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย 5 หมื่นราย นอกจากนี้ ยังมีวงเงินสินเชื่อที่สนับสนุนสหกรณ์อีกกว่า 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งมีหนี้คงค้างเหลืออยู่ 4 หมื่นล้านบาท