นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้แถลงนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 พ.ย.66 นั้น กระทรวงการคลัง ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อดูแลลูกหนี้นอกระบบให้เข้ามาเป็นลูกหนี้ในระบบ และหลุดพ้นจากวงจรการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว
นายพรชัย กล่าวว่า เพื่อดำเนินการตามนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่เป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงการคลังได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ที่ผ่านการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้แล้ว และมีความประสงค์ที่จะขอสินเชื่อ (ผู้ลงทะเบียนที่ผ่านการไกล่เกลี่ยฯ) ผ่านมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบที่ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ในโครงการแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาล
โดยธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 15,000 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 20,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน (Flat rate) ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 6 งวดแรก และระยะเวลาคืนเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 3 ปี ซึ่งหากผู้ลงทะเบียนที่ผ่านการไกล่เกลี่ยฯ เป็นผู้ประกอบอาชีพทั่วไปสามารถ ติดต่อได้ที่ธนาคารออมสิน และหากเป็นเกษตรกรสามารถติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส.
นอกจากนี้ ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ยังมีโครงการสินเชื่ออื่น สำหรับผู้ลงทะเบียนที่ผ่านการไกล่เกลี่ยฯ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ต้องการสินเชื่อเพื่อนำไปชำระหนี้นอกระบบ ผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ เช่น โครงการสินเชื่อธนาคารประชาชนโดยธนาคารออมสิน (วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.75% ต่อเดือน) สินเชื่อเพื่อชำระหนี้นอกระบบโดย ธ.ก.ส. (วงเงินสินเชื่ออนุมัติรายละไม่เกิน 200,000 บาท หรือในกรณีสงวนรักษาที่ดิน วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น MRR ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 12 ปี) และบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนของธนาคารออมสิน เพื่อให้บริการขายฝากหรือให้สินเชื่อจดจำนองที่ดินอย่างเป็นธรรม อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 7.5% ต่อปี และปลอดชำระเงินต้น 12 เดือน
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ผลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อจากธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ สำหรับผู้ลงทะเบียนที่ผ่านการไกล่เกลี่ยฯ ณ วันที่ 14 มีนาคม 2567 มีจำนวน 10,592 ราย แบ่งเป็นผู้ที่เข้าไปติดต่อขอรับความช่วยเหลือที่ธนาคารทั้ง 2 แห่งแล้ว 1,675 ราย (คิดเป็น 15.81%) และผู้ที่ยังไม่ได้เข้าไปติดต่อขอรับความช่วยเหลือที่ธนาคารทั้ง 2 แห่ง จำนวน 8,917 ราย (คิดเป็น 84.19%) โดยจากจำนวนผู้ที่เข้ามาติดต่อขอรับความช่วยเหลือ ธนาคารทั้ง 2 แห่ง ได้ดำเนินการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 525 ราย (คิดเป็น 31.34% ของผู้ที่เข้าไปติดต่อขอรับความช่วยเหลือที่ธนาคารทั้ง 2 แห่ง) รวมเป็นจำนวนเงิน 12.02 ล้านบาท
สำหรับผู้ลงทะเบียนที่ผ่านการไกล่เกลี่ยฯ ที่ยังไม่ได้เข้าไปติดต่อขอรับความช่วยเหลือ ธนาคารทั้ง 2 แห่ง ได้ดำเนินการเชิงรุก โดยเร่งประชาสัมพันธ์และติดต่อผู้ลงทะเบียนผ่านทางโทรศัพท์ และส่ง SMS ตามข้อมูลที่อยู่ของผู้ลงทะเบียนที่ผ่านการไกล่เกลี่ยฯ เพื่อทำการนัดหมายให้เข้ามาติดต่อที่ธนาคารต่อไป สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านสินเชื่อ เนื่องจากคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ ธนาคารทั้ง 2 แห่ง ก็ได้ให้ความช่วยเหลือทุกราย โดยการให้คำแนะนำปรึกษา ประกอบด้วย การปรับโครงสร้างหนี้ (ลดยอดผ่อนชำระต่องวดลง และขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้นานขึ้น) การให้ความรู้ทางการเงิน รวมทั้งการส่งเข้าร่วมโครงการฟื้นฟูศักยภาพในการหาแหล่งรายได้หรือพัฒนาอาชีพของธนาคารทั้งสองแห่งด้วยแล้ว
"เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ กระทรวงการคลัง ขอเชิญชวนให้ผู้ลงทะเบียนที่ผ่านการไกล่เกลี่ยฯ ติดต่อไปยังธนาคารทั้ง 2 แห่ง โดยธนาคารทั้ง 2 แห่ง พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน และให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ กับประชาชนอย่างเต็มที่" นายพรชัย กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ได้ส่งเสริมให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) เพื่อเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้แก่ประชาชนรายย่อย โดย ณ เดือนม.ค. 67 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 1,140 ราย ใน 75 จังหวัด
ขณะที่ล่าสุด ณ เดือนธันวาคม 2566 มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยสะสม ทั้งสิ้น 4,050,833 บัญชี รวมเป็นวงเงิน 38,857.69 ล้านบาท