"อนุสรณ์" คาดทั้งปี กนง.ลดดอกเบี้ย 0.50% เชื่อไม่ทำเงินไหลออก แม้ลดก่อนเฟด

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday March 17, 2024 16:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดดอกเบี้ย การตัดสินใจลดดอกเบี้ยดังกล่าว จะไม่ส่งผลเงินทุนไหลออกแต่อย่างใด เพราะปัจจัยดอกเบี้ย ไม่ได้เป็นปัจจัยที่กำหนดการเคลื่อนย้ายเงินทุนมากนัก

อย่างไรก็ดี อาจมีผลอยู่บ้างต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายเก็งกำไรระยะสั้น ซึ่งไม่มีนัยสำคัญใด ๆ ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และไม่ส่งผลต่อชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ เพราะเชื่อว่าปัจจัยเสี่ยงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน ปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง ความคงเส้นคงวาของนโยบายส่งเสริมการลงทุน มีความสำคัญต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะยาวมากกว่า

ทั้งนี้ สำนักวิจัยส่วนใหญ่ ได้ทยอยปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยลงมาต่ำกว่า 3% เป็นส่วนใหญ่ อัตราการขยายทางเศรษฐกิจในระดับดังกล่าว ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอัตราการขยายตัวของกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ในปี 2567 จะเริ่มปรับทิศทางนโยบายการเงินมาเป็นแบบผ่อนคลายมากขึ้น ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น ที่อาจมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหรือคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับลดดอกเบี้ยหลังเดือนมิ.ย. และอาจปรับลดน้อยครั้งลงจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง จากตัวเลขเงินเฟ้อสูงเกินเป้า ดัชนีราคาผู้ผลิตทรงตัวในระดับสูง GDP ดีเกินคาด ดัชนีค้าปลีกและตลาดจ้างงานยังแข็งแกร่ง

นายอนุสรณ์ มองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติในช่วงครึ่งปีแรก จะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินในไทยได้ระดับหนึ่ง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้บ้าง พฤติกรรมการก่อหนี้เพื่อนำมาบริโภคหรือใช้จ่ายแบบไม่ระมัดระวังจะไม่เกิดขึ้น หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะถ่วงการบริโภค และครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำจะไม่มีเงินออมเลย หนี้ SMEs ที่มีอยู่สูงถ่วงการลงทุน เพราะครัวเรือนและกิจการส่วนใหญ่ มีภาระหนี้เดิมค่อนข้างมากและเต็มเพดานแล้ว ดังนั้นโอกาสที่การลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว จะทำให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงก่อหนี้เพิ่ม จึงมีความเป็นไปได้ต่ำ

พร้อมกันนี้ คาดว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ย 1-2 ครั้ง ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยรวมทั้งปี จะลดลงประมาณ 0.50% การลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เพียงช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินในประเทศไทยเท่านั้น ไม่ได้แก้ปัญหาเพราะปัญหาหนี้สินในไทยเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง เชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆ อีกหลายมิติ

"การเสริมสร้างศักยภาพในการเพิ่มรายได้ของครัวเรือน และระบบเศรษฐกิจ คือ คำตอบที่แท้จริงของปัญหาหนี้สิน การพักหนี้ การปรับโครงสร้าง ยังเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้า อย่างไรก็ตาม การตั้งกองทุนเพื่อปลดเปลื้องหนี้โดยตรงให้กับครัวเรือนรายได้ต่ำมาก อาจมีความจำเป็น" นายอนุสรณ์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ