นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า จะพยายามรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้มีอัตราการขยายตัว 6% ในทุกไตรมาส หลังจากที่มั่นใจว่าไตรมาส 1/51 เติบโตได้สูงถึง 6% เป็นผลจากที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ประชาชนมั่นใจในการใช้จ่าย ขณะที่ภาคเอกชนขยายการลงทุนมากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นไม่มาก
"ภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เหลืออีก 3 ไตรมาส จะโตได้ถึง 6% หรือไม่เป็นเรื่องของความเชื่อมั่น ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศมาตรการต่างๆ รองรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ซึ่งจะทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้นและทำให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้นในส่วนของภาคเอกชนที่จะลงทุนเพิ่มขึ้นตาม" นพ.สุรพงษ์ กล่าว
สำหรับไตรมาส 1/51 ที่แม้จีดีพีโตได้ 6% นั้น แต่ก็ถือว่าเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงที่ 4-5% และเริ่มสูงขึ้นอีกในเดือนเม.ย.ซึ่งเป็นช่วงที่เข้าไตรมาส 2 ทั้งนี้เงินเฟ้อที่เริ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ทำให้เห็นว่าในอนาคตแนวโน้มราคาสินค้าต้องสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ประชาชนรู้สึกว่าต้องประหยัดมากขึ้น
ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำต่อไปคือการออกมาตรการเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนตามค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นมาตรการที่รัฐบาลจะออกมาควบคู่กับการดูแลเงินเฟ้อ ซึ่งยืนยันว่าจะไม่ใช้วิธีควบคุมราคาสินค้าหรือบิดเบือนโครงสร้างราคา ขณะที่จะออกมาตรการด้านการประหยัดพลังงานควบคู่กันโดยส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนให้มากขึ้น
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า มาตรการที่รัฐบาลออกมาจะมีเป้าหมายเพื่อรักษาจีดีพีให้ได้ 6% ทุกไตรมาส โดยเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนได้มากขึ้น
ส่วนที่กังวลกันว่าอัตราดอกเบี้ยจะติดลบเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่องนั้น เรื่องนี้รัฐบาลพยายามดูแลไม่ให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมาก ซึ่งเงินเฟ้อที่สูงอยู่ในขณะนี้สาเหตุมาจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นไม่ใช่ต้นทุนจากอุปสงค์ ขณะที่เรื่องอัตราดอกเบี้ยติดลบนั้นได้หารือกันในเบื้องต้นแล้วกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)พบว่ายังไม่เกิดปัญหานี้
นพ.สุรพงษ์ ยังกล่าวถึงสิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดในรายการ "ถามจริงตอบตรง" ว่า คงไม่ได้หมายความว่าธนาคารนครหลวงไทย(SCIB) และไทยธนาคาร(BT) มีปัญหาทางการเงินจนไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพียงแต่พูดในหลักการว่าการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินจะมีมากขึ้น ความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญในอนาคต ดังนั้นหากธนาคารจะพัฒนาให้มีความแข็งแกร่งก็จะต้องหาหุ้นส่วนหรือพันธมิตรเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบสถาบันการเงินของไทยที่พรัอมจะแข่งขันในอนาคตได้
"ขณะนี้ในระบบสถาบันการเงินของโลกมีการแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นในระบบสถาบันการเงินของไทยควรจะต้องมองหาหุ้นส่วนทางธุรกิจ เพื่อมาเสริมความแข็งแกร่งให้กับแบงก์โดยเร็ว ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ เพราะสถาบันการเงินในระดับโลกมีความมั่นคงและมีการแข่งขันที่สูง สถาบันการเงินของไทยจึงต้องปรับตัวตาม" นพ.สุรพงษ์ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย คลฦ/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--