กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.50-36.30 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 35.82 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังสหรัฐฯ รายงานอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์สูงเกินคาด ส่งผลให้นักลงทุนไม่แน่ใจว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนหรือไม่
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปเพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมอาหารและพลังงานสูงขึ้น 3.8% นอกจากนี้ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ทั่วไปและพื้นฐานในเดือนกุมภาพันธ์ พุ่งขึ้นเกินคาดเช่นกัน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ฟื้นตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 5 ล้านบาท และ 11,670 ล้านบาท ตามลำดับ
ภาพรวมในสัปดาห์นี้ ตลาดจะติดตามการประชุมเฟดวันที่ 19-20 มี.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25-5.50% ขณะที่จุดสนใจหลักจะอยู่ที่ Dot Plot หรือประมาณการดอกเบี้ยที่จัดทำโดยเจ้าหน้าที่เฟด กรณี Dot Plot บ่งชี้ว่าเฟดมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไม่ถึง 3 ครั้งในปีนี้ จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์ได้แรงหนุนขึ้นต่อ
ทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ซึ่งจะประชุมวันที่ 18-19 มี.ค. อาจจะประกาศยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมากขึ้น ขณะที่สหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นเหนือ 5% เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี อนึ่ง ผู้เข้าร่วมตลาดคาดว่าบีโอเจจะเปลี่ยนแปลงนโยบายพร้อมกับท่าทีระมัดระวังเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยหากบีโอเจส่งสัญญาณว่าอาจเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียว จะไม่เพียงพอที่จะทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นได้
ส่วนปัจจัยในประเทศ นักลงทุนจะให้ความสนใจความคืบหน้าและแนวทางของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หลังครบ 30 วัน หลังจากตั้งคณะกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นในวงกว้างและศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในภาวะเช่นนี้ กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ มองว่าสินทรัพย์สกุลเงินบาท ยังไม่สามารถดึงดูดกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ต่อเนื่อง หากยังมีความไม่แน่นอนด้านนโยบาย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพการเติบโตที่ถูกลดทอนลง