เอกชนขอใช้น้ำตาลโควต้าส่งออกผลิตสินค้า 3 เดือนปรับตัวก่อนรับผลขึ้นราคา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 8, 2008 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เตรียมเสนอรัฐบาลช่วยแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากการปรับราคาน้ำตาลทรายให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร โดยขอใช้น้ำตาลทรายโควตาส่งออกมาผลิตสินค้าเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นขอปรับขึ้นราคาสินค้าบางชนิด
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า หลังหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ ผู้ผลิตอาหารกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง และนมข้นหวาน สรุปว่าจะเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือ 2 ประเด็น คือ ขอให้ผู้ประกอบการสามารถใช้น้ำตาลทรายโควตา ค(ส่งออก) มาผลิตสินค้าได้ ซึ่งจะมีราคาจำหน่ายต่ำกว่าน้ำตาลทรายโควตา ก(ขายในประเทศ) เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำตาลทราย
และหลังจากที่สิ้นสุดการขอใช้น้ำตาลทรายโควตา ค แล้ว ก็จะขอให้รัฐบาลพิจารณาอนุญาตให้ปรับขึ้นราคาสินค้าที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบจำนวนมากโดยเฉพาะสินค้าที่ถูกควบคุมราคา เช่น นมข้นหวาน
เหตุที่ยื่นจ้อเรียกร้องดังกล่าวเนื่องจากหลังรัฐบาลอนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำตาลทรายในประเทศอีกกิโลกรัมละ 5.35 บาท ทำให้ผู้ผลิตสินค้าที่ได้รับคำสั่งซื้อล่วงหน้า 3.6 เดือนได้รับผลกระทบเรื่องต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นทันทีโดยไม่มีเวลาปรับตัว
"อุตสาหกรรมอาหารใช้น้ำตาลในการผลิตประมาณ 10% เมื่อมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 5 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 32% เมื่อคิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดประมาณ 3% แม้ว่าจะเพิ่มเพียงเล็กน้อยแต่สินค้าส่งออกมีกำไรที่ไม่สูงมาก เมื่อต้นทุนเพิ่ม 3% ก็จะทำให้กำไรลดลง หรือไม่มีกำไรก็ได้ โดยเฉพาะสินค้าที่ถูกคุมราคาอย่างนมข้นหวาน" นายสันติ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นจากปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น ราคาน้ำมันก็สูงขึ้นทำให้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น และราคาเหล็กทำกระป๋องที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอีก ประกอบกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นอาจทำให้กำไรของผู้ประกอบการลดน้อยลงหรืออาจขาดทุนหากไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้
ด้าน นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กล่าวว่า ผู้ประกอบการยังต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อแก้ไขให้การค้าขายน้ำตาลทรายอย่างเสรี ซึ่งที่ผานมาได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) พิจารณาแล้ว ซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการจะทำให้ผู้ประกอบการต้องชะลอการสั่งซื้อผลไม้จากเกษตรกรที่กำลังจะออกมา และทำให้ยอดส่งออกอาหารไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ 12-15%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ