นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่า โครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล มีกระบวนการวางแผนที่ยังไม่ดีพอ และไม่ได้เรียนรู้จากบทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีต และโครงการนี้ ยังมีความเสี่ยงสูงที่บริษัทเอกชนจะถูกลดเครดิตเรตติ้ง ตามการลดเครดิตเรตติ้งของประเทศจากปัญหาวินัยทางการคลัง อีกทั้งโครงการแจกเงินดังกล่าว อาจก่อให้หนี้สาธารณะพุ่งสูง ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
ในกรณีของประเทศไทย จากบทเรียนในอดีต จะพบว่าตัวคูณทางการคลังที่เกิดขึ้นจากการอัดฉีดเงิน ไม่ได้สูงตามที่รัฐบาลคาดการณ์ ยกตัวอย่าง การแจกเงินให้กับบุคคลทั่วไป จะมีตัวคูณทางการคลังเพียง 0.4-0.5%
"ดังนั้นการแจกเงิน จะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจเป็นพายุดังที่รัฐบาลคาด เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ลมพายุจากการแจกเงิน ไม่เกิดขึ้น ยกเว้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเกิดวิกฤตจริง" นายสมเกียรติ กล่าว
อีกประเด็นที่ควรต้องทบทวนจากบทเรียนที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ คือ การเพิกเฉยต่อธนาคารกลาง หรือการเข้าไปแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลาง เช่น ในตุรกี ไล่ผู้ว่าการแบงก์ชาติออก 3 คน เหตุเพราะรัฐบาลต้องการให้ลดดอกเบี้ย ผลคือเกิดเงินเฟ้อขึ้น 80% เช่นเดียวกับในรัฐบาลอังกฤษ ที่นายกรัฐมนตรีต้องการให้ลดภาษี เพิกเฉยต่อธนาคารกลาง ทำให้เงินปอนด์ดิ่ง และสุดท้ายนายกรัฐมนตรีต้องลาออก
นายสมเกียรติ ยังกล่าวถึงโครงการแลนด์บริดจ์ด้วยว่า เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสนใจ แต่กระบวนการวางแผนยังค่อนข้างมีปัญหา ซึ่งโครงการขนาดใหญ่ในอดีตมีทั้งประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งหลัก ๆ มาจากการมองโลกดีเกินจริงและเมินความจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งการพยายามปั้นตัวเลขออกมาให้ดี เพื่อให้เกิดความต้องการลงทุนทำโครงการ ดังนั้นการจะทำโครงการใหญ่ต้องวางแผนให้ดีและทำ Feasibility Study หรือการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ
ซึ่งกรณีของโครงการแลนด์บริดจ์ พบว่าการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการมี 2 ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย การศึกษาของกระทรวงคมนาคม พบว่าโครงการแลนด์บริดจ์ จะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจดี สร้างมูลค่าปัจจุบันประมาณ 2.6 แสนล้านบาท ขณะที่การศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำให้กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กลับพบว่าโครงการดังกล่าว ทำให้มูลค่าปัจจุบันติดลบหรือขาดทุน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดกันต่อ