นายวิทวัส เลิศบรรณพงษ์ ผู้ช่วยผู้บริหารงานขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยในงานสัมมนา "วิเคราะห์เศรษฐกิจโลก ทิศทางดอกเบี้ย และค่าเงิน" โดยมองว่า มีโอกาสไม่ถึง 50% ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เดือนเม.ย.นี้ เพราะถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านแล้วดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังไม่ได้สูงกว่า แต่ก็อยู่ที่มุมมอง กนง. ว่าจะลดหรือไม่ หรืออาจรอดูข้อมูลเศรษฐกิจในไตรมาส 1/67 ก่อน แล้วค่อยลด
"ถ้าการลดดอกเบี้ยเกิดขึ้นจริง ขณะที่การบริโภคยังดีอยู่ อาจทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น เพราะคนมั่นใจในการบริโภค แต่พอมีข้อเสนอกู้ยืม ก็กู้เพิ่ม ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนจะเพิ่มสูงขึ้นอีกจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 92% ต่อจีดีพีแล้ว นอกจากนี้ หุ้น บอนด์ไทยน่าสนใจลดลงหากลดดอกเบี้ย สุดท้ายจะโดนเทขาย และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้ นอกจากนี้ ยังกระทบสินค้านำเข้าด้วย เพราะราคาจะสูงขึ้น และร้ายแรงสุด คือการประกาศสงครามค่าเงินกับเพื่อนบ้าน แต่คาดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น" นายวิทวัส กล่าว
แต่ในทางกลับกัน ถ้าไม่ลดดอกเบี้ย เงินบาทก็อ่อนค่าอยู่แล้ว การส่งออกไม่เสียเปรียบประเทศคู่ค้า แต่หากครึ่งปีหลังเป็นไปตามที่คาดการณ์จริงว่าสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ย ก็จะทำให้ดอลลาร์อ่อนค่า และเงินบาทกลับมาแข็งค่า ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่า ก็มองว่า ธปท. อาจใช้นโยบายการเงินด้วยการลดดอกเบี้ย เพื่อทำให้เงินบาทไม่แข็งค่าไปมาก เพื่อช่วยภาคส่งออก
"ไม่ว่าธปท. จะลดดอกเบี้ย หรือไม่ลดดอกเบี้ย เงินบาทน่าจะอยู่ที่ระดับ 36 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่ภาคการส่งออกยังสามารถแข่งขันได้" นายวิทวัส กล่าว
พร้อมมองว่า การลดดอกเบี้ยเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจวิธีหนึ่ง แต่การจะลดหรือไม่ลดนั้น ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่ดูแลนโยบายการเงิน ซึ่งก็คือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่ง ธปท.น่าจะมีตัวเลขและข้อมูลที่มากกว่าเรา อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังฟื้นตัวได้ แต่มีเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย และสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน ในขณะที่ SME นั้นยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เพราะดอกเบี้ยที่สูง และยังโดนจีนแย่งตลาด
ทั้งนี้ การที่ ธปท.มองว่าขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาลดดอกเบี้ย อาจจะมาได้จาก 2 ปัจจัย คือ
1. เศรษฐกิจไทยโตช้ามาจากปัญหาโครงสร้าง ไม่ใช่ปัญหาดอกเบี้ยสูงเกินไป อยู่ที่ภาคการผลิต และภาคการส่งออกของไทย ซึ่งไทยแข่งขันกับตลาดโลกไม่ได้ เพราะต่างประเทศไม่ต้องการสินค้าไทย เช่น ฮาร์ดิสไดรฟ์ รวมถึงกรณีที่สินค้าจากจีนที่มีราคาถูกกว่า และนำเข้ามาแข่งขันกับ SME ไทย ทำให้ไทยสู้ไม่ได้
2. อัตราเงินเฟ้อต่ำ ไม่ได้มาจากการบริโภคในไทยที่อ่อนแอ แต่มาจากมาตรการของรัฐบาลด้านราคาพลังงาน ที่ทำให้ราคาพลังงานปรับลง ซึ่งจะเป็นแค่ภาวะชั่วคราวเท่านั้น
ด้าน น.ส.ซาร่า ผลพิบูลย์ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย มองปัจจัยหลักๆ ที่จะมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาทว่า มาจากแนวโน้มเศรษฐกิจ และแนวโน้มดอกเบี้ย โดยเศรษฐกิจไทยโมเมนตัมอ่อนแอ ตลาดมองว่าปีนี้ ธปท. จะลดดอกเบี้ยทั้งหมด 2 ครั้ง ลงมาอยู่ที่ระดับ 2.00% ต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.50% ต่อปี
โดยคาดว่าครั้งแรกน่าจะลดในการประชุม กนง.เดือนมิ.ย. เนื่องจากถ้าลดเร็วกว่านั้น อาจไม่สมเหตุสมผล และมองว่า ธปท. อาจรอดู GDP ไตรมาส 1/67 ก่อน
"หากลดดอกเบี้ยเร็วกว่านั้น หรือลดในรอบเดือนเม.ย. ที่มีวันหยุดค่อนข้างเยอะ ตัวเลขการใช้จ่ายต่างๆ ก็ยังน่าจะออกมาค่อนข้างดี จึงไม่น่าจะลดในรอบเม.ย.นี้ ขณะเดียวกัน การลดดอกเบี้ยก่อนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ดูไม่สมเหตุสมผล เพราะอาจเกิดผลลบมากกว่า ทำ flow ไหลออกต่อเนื่อง และกระทบเงินบาทได้" น.ส.ซาร่า กล่าว
ดังนั้นจากมุมมองดังกล่าว เชื่อว่าเงินบาทจะยังอยู่ในแนวโน้มใกล้เคียง 36 บาท/ดอลลาร์ ค่อนข้างอ่อนค่า ในระยะสั้นมองเงินบาทได้รับแรงกดดันต่อ โดยเฉพาะจากดอกเบี้ยว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยลงเมื่อไร และลดเท่าไร ซึ่งมองว่าปีนี้เฟดจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง โดยการลดครั้งแรก จะเกิดขึ้นในเดือนมิ.ย.
อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจกดดันค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีแรก คือ เรื่องการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติช่วงเม.ย.-พ.ค. ประเมินจ่ายออกประมาณ 81,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีก่อน ทำให้เงินบาทมีโอกาสได้รับผลกระทบได้ ส่วนปัจจัยเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลังนั้น ความไม่แน่นอนน่าจะอยู่ที่เรื่องดอกเบี้ย แต่จะได้รับปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 38 ล้านคน คาดเงินบาท ณ สิ้นปี 67 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 35.20 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากปัจจุบัน
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยปี 67 เริ่มขยับขึ้น เนื่องจาก GDP ที่ลดลง และการส่งออกที่ไม่ดี จากการถูกโจมตีของสินค้าจีน ส่วนการจ่ายเงินปันผลให้ต่างชาติประมาณ 81,000 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ทำให้เงินบาทอ่อนค่าเทียบดอลลาร์
น.ส.กฤติกา บุญสร้าง ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 67 ลงเหลือโต 2.8% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.2% โดยต้องติดตามเรื่องความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 67 เพราะจะส่งผลให้รายจ่ายภาครัฐหดตัว
แต่อย่างไรก็ดี ในปีนี้เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากกลางปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 38 ล้านคน ใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิดที่ประมาณ 40 ล้านคน
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลก มองว่า เป็นปีของการลดดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจชะลอตัวลง ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ต้องลดดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อชะลอลง และเงินเฟ้อเริ่มเข้าใกล้เป้าหมายของแต่ละธนาคารกลางแล้ว
"ภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แข็งแกร่งกว่าที่คาด ทำให้ตลาดมองว่าเฟดไม่เร่งลดดอกเบี้ย ขณะที่เงินเฟ้อปีนี้ เฟดมองใกล้เคียงปีก่อนอยู่ที่ 2.4% อย่างไรก็ดี ต้องจับตาภาคอสังหาริมทรัพย์ ราคาสำนักงาน+ออฟฟิศ ที่ลดลงหลังจากที่เฟดลดดอกเบี้ย แสดงให้เห็นว่าดีมานด์อ่อนแอ ส่วนฝั่งจีน ภาคอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวมยังไม่ดีขึ้น ตั้งแต่ Evergrande ล้ม ตลาดมองว่าธนาคารจีนต้องช่วยกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก็ยังไม่เห็นในส่วนนี้ ทำให้ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนยังคงอ่อนแอ และเงินหยวนอ่อนค่า" น.ส.กฤติกา กล่าว