สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) รวมตัวกันพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ ด้วยการลด-ตรึงดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน หวังว่าภาคการเงิน จะมีมาตรการการเงินออกมาในเร็วๆ นี้ เพื่อช่วยเสริมกับมาตรการด้านการคลัง ในการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ประชาชน
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาธนาคารของรัฐได้รวมกันเพื่อช่วยเหลือประชาชนท่ามกลางสถานการณ์ดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การลดดอกเบี้ย การพักหนี้ การช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยลดภาระให้ประชาชน เพิ่มสภาพคล่องมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี ในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและลดความเปราะบางทางเศรษฐกิจดังกล่าว นอกจากการขับเคลื่อนมาตรการของภาครัฐซึ่งเป็นมาตรการกึ่งการคลังแล้ว ยังต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
พร้อมได้ยกตัวอย่างกรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ เนื่องจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ไม่กลับเข้ากรอบเป้าหมาย ซึ่งทำให้ธนาคารกลางเหล่านี้ต้องพิจารณาว่าจะใช้นโยบายการเงินเพื่อวัตถุประสงค์ใด หากต้องการควบคุมเงินเฟ้อที่สูงให้กลับเข้ากรอบ ก็จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไป
แต่ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย หรือดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน ก็เป็นสิ่งที่สามารถนำมาพิจารณาได้
"นอกจากนี้ จะต้องพิจารณาถึง Policy Space ว่ามีเพียงพอหรือไม่ ถ้ายังมีเพียงพอ และสามารถใช้ลดดอกเบี้ยลงได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม แต่หากมี Policy Space มาก และไม่ใช้ ก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะเงื่อนไขการทำให้เงินเฟ้อกลับเข้ากรอบเป้าหมายนั้น ถือว่าไม่บรรลุไปแล้ว" โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าว
พร้อมกับมีข้อมูลว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงทุก 0.25% จะช่วยให้การบริโภคเพิ่มขึ้น 0.15% และการลงทุนเพิ่มขึ้น 0.16%
นายพรชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาแบงก์รัฐทุกแห่งได้ช่วยกันตรึงดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปี 2565 และชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 ถึงแม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นหลายครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ธนาคารออมสินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate: MRR) ลง 0.15% ต่อปี
ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีโครงการบ้าน ธอส. สุขสบาย เพื่อให้ลูกหนี้เดิมของ ธอส. สามารถยื่นขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงได้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีโครงการสินเชื่อ SME Refinance เพื่อลดต้นทุนให้กับลูกหนี้ นอกจากนี้ แบงก์รัฐทุกแห่งได้ช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้และลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่กลุ่มลูกหนี้รายย่อยและกลุ่มลูกหนี้ SMEs รวมทั้งมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการทุกกลุ่ม
นายพรชัย กล่าวต่อว่า จากที่ผู้เกี่ยวข้องกับนโยบายการเงินได้พูดอยู่เสมอว่า การปรับลดดอกเบี้ยแล้ว อาจจะส่งผลให้มีการกู้ยืมเงินมากขึ้น และทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นนั้น ในมุมมองของตนกลับเห็นอีกแบบว่า ผลการลดดอกเบี้ยนโยบายที่จะส่งผ่านจากธนาคารพาณิชย์ไปยังลูกค้าคงไม่เร็วนัก เพราะไม่ใช่เป็นภาวะของสถานการณ์ไม่ปกติเหมือนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ที่ธนาคารต่างพร้อมใจกันลดดอกเบี้ยลงในทันทีหลังจากดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง แต่เนื่องจากในปัจจุบันเป็นสถานการณ์ปกติ ที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีระยะเวลาในการปรับตัวก่อนที่จะลดดอกเบี้ยลงตามดอกเบี้ยนโยบาย เพราะต้องมีการบริหารต้นทุนเงินที่ได้ระดมทุนมาไว้ก่อนหน้า ดังนั้นเชื่อว่าการที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับ มีกฎเกณฑ์กติกาการปล่อยสินเชื่อที่ให้แต่ละธนาคารได้ปฏิบัติตามอย่างเข้มงวดแล้ว การปล่อยสินเชื่อแบบไม่รับผิดชอบ จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นจนส่งผลให้มีการกู้ยืมเงินหรือขอสินเชื่อเกินตัวจนส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น จากผลของการลดดอกเบี้ยตามที่มีผู้กังวลในก่อนหน้านี้
"วาล์วที่เปิดน้ำไหลออก (วาล์วปล่อยสินเชื่อ) ได้ถูกควบคุมไว้อย่างระมัดระวังแล้ว ทั้งการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ การตรวจสอบคุณภาพและความสามารถของผู้กู้ ดังนั้นการจะปล่อยสินเชื่อโดยที่ไม่ผ่านกระบวนการรัดกุม คงไม่เกิดขึ้น การมีวาล์ว 2 ตัว คือ จุดแรกผ่อน และจุดที่สองกรอง จะทำให้การปล่อยสินเชื่อดีขึ้น สินเชื่อจะมีคุณภาพ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ย ทำให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างดี เพราะหากมีการส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดลงได้แน่ ก็จะทำให้สามารถวางแผนบริหารต้นทุนในการดำเนินธุรกิจได้เป็นอย่างดี" นายพรชัย ระบุ