นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามข้อมูลการค้าและสถานการณ์การส่งออกสินค้าไอศกรีม พบว่า มูลค่าการส่งออกไอศกรีมของไทย เติบโตต่อเนื่องติดต่อกันตลอดช่วงระยะเวลา 7 ปี (2560 - 2566) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 12.43% โดยล่าสุด ปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกไอศกรีมรวม 148.21 ล้านเหรียญสหรัฐ (5,099 ล้านบาท) ขยายตัว 7.3%
ทั้งนี้ หากพิจารณารายประเทศ พบว่าไทยเป็นผู้ส่งออกไอศกรีม อันดับที่ 11 ของโลก รองจาก (1) เยอรมนี (2) ฝรั่งเศส (3) เบลเยียม (4) เนเธอร์แลนด์ (5) อิตาลี (6) โปแลนด์ (7) สหรัฐอเมริกา (8) สเปน (9) สหราชอาณาจักร และ (10) ฮังการี โดยจะเห็นว่าในบรรดาประเทศผู้ส่งออกไอศกรีม ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของเอเชีย
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ไอศกรีมเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น โดยจากรายงานมูลค่าตลาดไอศกรีมของEuromonitor International บริษัทสำรวจข้อมูลทางการตลาดระดับโลก พบว่า ปี 2566 ตลาดไอศกรีมโลกมูลค่าค้าปลีกอยู่ที่ 86,719.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.8% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยประเทศที่มีตลาดไอศกรีมขนาดใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าค้าปลีก 19,994.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (2) จีน 8,247.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (3) ญี่ปุ่น 5,581.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (4) รัสเซีย 3,576.0 ล้านเหรียญสหรัฐ และ (5) บราซิล 3,232.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ตลาดไอศกรีมของไทย มีมูลค่าค้าปลีก 396.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพอากาศที่ร้อน ความนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และไลฟ์สไตล์ที่ต้องเดินทาง (On The Go Lifestyles) เพิ่มขึ้นของคนไทย
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า กระแสความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคมองหาอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน และมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี ซึ่งส่งผลต่อแนวโน้มการบริโภคไอศกรีมเช่นกัน โดยผู้บริโภคต้องการบริโภคไอศกรีมที่มีรสชาติอร่อยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งไอศกรีมที่ผลิตจากนมวัว ไอศกรีมแพลนต์เบส (ใช้นมจากพืช เช่น อัลมอนด์ พิสตาชิโอ ข้าวโพดหวาน) และไอศกรีมที่มีส่วนผสมจากผลไม้
อีกทั้งได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายขึ้น เช่น ไอศกรีมที่ไม่มีแลคโตส ไอศกรีมที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยลง ซึ่งนอกจากจะตอบโจทย์ด้านสุขภาพแล้ว ยังตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มที่แพ้นมวัว และสำหรับไอศกรีมแพลนต์เบส และไอศกรีมจากผลไม้ ก็ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคชาววีแกน หรือรับประทานอาหารเจได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ผู้บริโภคยุคใหม่ ก็เริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืน (Sustainability) ทำให้ปัจจุบันผู้ผลิตไอศกรีมรายใหญ่ มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ ใช้ตู้แช่ไอศกรีมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly Freezer) เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกเป็นกระดาษ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และกระตุ้นความต้องการบริโภคได้อีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาส่วนแบ่งมูลค่าการส่งออกไอศกรีมของไทยในตลาดโลก ข้อมูลล่าสุดปี 2565 ไทยมีมูลค่า การส่งออกไอศกรีม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.6% ของมูลค่าการส่งออกไอศกรีมทั่วโลก ขณะที่สหภาพยุโรป มีส่วนแบ่ง 68.4% สหรัฐอเมริกา มีส่วนแบ่ง 5.0% และสหราชอาณาจักร มีส่วนแบ่ง 3.0% ของมูลค่าการส่งออกไอศกรีมทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังพบว่าการส่งออกไอศกรีมของไทย เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2566 ไทยมีมูลค่าการส่งออก 148.21 ล้านเหรียญสหรัฐ (5,099 ล้านบาท) ขยายตัว 7.3% และเดือนมกราคม 2567 ไทยมีมูลค่าการส่งออก 9.91 ล้านเหรียญสหรัฐ (343 ล้านบาท) ขยายตัว 10.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และตลาดส่งออกไอศกรีมที่สำคัญของไทยปี 2566 ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) มาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วน 29.5% ของมูลค่าการส่งออกไอศกรีม ไทย (2) เกาหลีใต้ 11.3% (3) เวียดนาม 9.5% (4) สิงคโปร์ 6.5% และ (5) กัมพูชา 6.3% ตามลำดับ
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกไอศกรีมอันดับ 1 ของเอเชีย แสดงให้เห็นว่าไอศกรีม เป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกศักยภาพของไทย เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบที่หลากหลาย และสามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นไอศกรีมได้อย่างสร้างสรรค์และถูกใจผู้บริโภค
โดยผลไม้ไทยเกือบทุกชนิด สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตไอศกรีมรสชาติต่าง ๆ ได้อย่างลงตัว ส่วนขนมไทยก็ถูกนำมาประยุกต์เป็นไอศกรีมได้อย่างน่าสนใจ ขณะที่สมุนไพรไทยก็สามารถเป็นส่วนผสมในไอศกรีมเพื่อชูอัตลักษณ์ความเป็นไทย ตลอดจนการรังสรรค์รูปแบบและรูปทรงของไอศกรีม ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ดึงดูดผู้บริโภคโดยเฉพาะชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสุขภาพและความยั่งยืนมากขึ้น ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อสามารถพัฒนาไอศกรีมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และแสวงหาโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าใหม่ ๆ มากขึ้น เนื่องจากไอศกรีมไทย ยังมีช่องว่างในการเติบโตได้อีกมากทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดโลก