นักวิชาการคาดเศรษฐกิจไทยเริ่มกระเตื้อง Q2/67 จากรัฐเร่งใช้จ่ายงบหลังสงกรานต์

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday March 24, 2024 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ความล่าช้าของงบประมาณปี 2567 มากกว่า 8 เดือนส่งผลให้การใช้จ่ายภาครัฐติดลบต่อเนื่องมากกว่า 4 ไตรมาสติดต่อกัน โดยอัตราการหดตัวของการลงทุนภาครัฐไตรมาสสี่ปีที่แล้วต้องติดลบสูงถึง -20.1% การติดลบดังกล่าวเป็นผลโดยตรงจากการที่รัฐบาลไม่สามารถจัดสรรงบประมาณปี 2567 ได้ตามกรอบเวลาของการจัดทำงบประมาณตามปรกติเพราะการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าถึง 2-3 เดือนหลังการเลือกตั้ง การหดตัวของการใช้จ่ายภาครัฐยังคงต่อเนื่องมายังไตรมาสแรกปีนี้ที่งบประมาณปี 2567 ยังไม่ผ่านรัฐสภา คาดว่า สถานการณ์การใช้จ่ายภาครัฐจะปรับตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสสอง หากมีการเร่งรัดการใช้จ่าย แต่คงจะทำได้ระดับหนึ่งเท่านั้นเพราะ พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มีขั้นตอนค่อนข้างมากเพื่อความโปร่งใส

แต่กฎหมายฉบับนี้มีปัญหาในทางปฏิบัติอย่างมาก กลไกอุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างในกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างปี 2560 ยังไม่สอดคล้องกับหลักการบริหารราชการที่เน้นประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน มีข้อจำกัดเรื่องความคล่องตัวยืดหยุ่น การปฏิบัติภารกิจมุ่งสนองความต้องการของประชาชนมีอุปสรรคจากกฎระเบียบ การเร่งการใช้จ่ายงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท อย่างมีประสิทธิภาพภายใน 8 เดือนไม่ใช่เรื่องง่าย และในวงเงิน 3.48 ล้านล้านนี้ ก็มีเม็ดเงินเพื่อการลงทุนเพียงแค่ 7 แสนล้านบาทหรือ 20-21%ของงบประมาณเท่านั้น

จนถึงวันนี้ รัฐบาลปัจจุบัน ยังไม่ได้ใช้งบประมาณในโครงการใหม่เลยแม้นแต่บาทเดียว ขณะที่การใช้จ่ายโดยอาศัยกรอบของงบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อนนั้นก็พลาดเป้าไปประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เม็ดเงินลงทุนจากโครงการใหม่ๆของปี 2567 อาจเข้าสู่ระบบหลังเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว หลังจากนั้น การใช้จ่ายภาครัฐน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวก เป็นแรงเสริมให้เศรษฐกิจในไตรมาสสองเติบโตดีขึ้น

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์นำร่องลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 1.5% การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ทำให้ "ธนาคารแห่งชาติสวิส" กลายเป็นธนาคารกลางชั้นนำแห่งแรกที่ส่งสัญญาณแรกของทิศทางดอกเบี้ยโลกขาลงและประสบความสำเร็จในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ตามเป้าหมายไม่เกิน 2% โดยอัตราเงินเฟ้อล่าสุดอยู่ที่ 1.2% การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์นี้ถือเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบเก้าปี และคาดการณ์ว่า ธนาคารแห่งชาติสวิสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 1% ภายในปีนี้

ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปอื่นๆ เช่น ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางนอร์เวย์ ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม ผลของการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งชาติสวิสทำให้ค่าเงินฟรังสวิสอ่อนลง สนับสนุนภาคส่งออกและการท่องเที่ยว รวมทั้งราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่ ธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังใช้ดอกเบี้ยติดลบมากกว่า 17 ปี เงินเฟ้อเป็นไปตามเป้าและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับ +0.1% นั้นยังถือว่าญี่ปุ่นยังคงใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินอยู่ การออกจากนโยบายควบคุมอัตราผลตอบแทนระยะยาวพันธบัตร 10 ปีและทยอยและการหยุดซื้อ ETF หุ้นญี่ปุ่นน่าจะส่งผลทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงและส่งผลต่อ Wealth Effect ของคนญี่ปุ่น ทำให้มีความรู้สึกว่า ความมั่งคั่งลดลง ผลต่อ Wealth Effect น่าจะเป็นระยะสั้นและจำกัดมาก หากเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องโอกาสที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวย่อมเกิดขึ้นได้ คาดว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นคงจะประเมินว่า การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและราคาสินทรัพย์ทางการเงินอย่างไรบ้าง ก่อนค่อยๆถอนมาตรการผ่อนคลายการเงินแบบสุดขั้ว และ QE ที่มีลักษณะเป็น Unconventional Monetary Policy เข้าสู่การดำเนินนโยบายการเงินแบบปรกติ

ทางด้านจีนอาจปรับลดดอกเบี้ยในไตรมาสสองเพื่อสู้กับภาวะเงินฝืด เศรษฐกิจชะลอตัวแรงและวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจาก การคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีไว้ที่ 2.5% อาจไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงซึมลง การประกาศลดอัตราส่วนการกันสำรองลง (Reserve Requirement Ratio ? RRR) และ การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ 5 แสนล้านหยวน (ประมาณ 6.95 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจซบเซาของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกดีขึ้นเท่าไหร่นัก จึงคาดว่า ธนาคารกลางจีนน่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสสองและช่วงครึ่งปีหลังเพิ่มเติม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ