นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยายจำนวน 3 เส้นทาง เพื่อนำเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา หลังจากก่อนหน้านี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้สรุปการศึกษารถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายทั้ง 3 เส้นทางและเตรียมเสนอครม.แล้ว แต่มีการดึงเรื่องกลับมาปรับแก้ไขใหม่ เพื่อความรอบคอบ รวมไปถึงอาจพิจารณาต่อขยายเส้นทางสายเหนือออกไปถึง"อยุธยา"และสายตะวันตกถึง"นครปฐม"เพื่อให้เป็นระบบรางหลักรองรับการขยายตัวของเมืองและชุมชนใหม่ๆรอบกทม.
ล่าสุด ไม่ได้ปรับเปลี่ยนใดๆ ยังคงยึดตามแผนแม่บท มีเพียงการทบทวนกรอบวงเงินให้สอดคล้องกับประกาศกรมบัญชีกลางเท่านั้น
สำหรับ รถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง วงเงินรวม 21,760.25 ล้านบาท ได้แก่
1. สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา ระยะทางรวม 14.8 กิโลเมตร (กม.) มี 6 สถานี ได้แก่ สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย - กฟผ. สถานีบ้านฉิมพลี สถานีกาญจนาภิเษก สถานีศาลาธรรมสพน์ และสถานีศาลายา วงเงินโครงการ 10,670.27 ล้านบาท รฟท. ดำเนินการกำหนดราคากลาง (Factor F) ตามประกาศของกรมบัญชีกลาง เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2566 แล้ว วงเงินยังอยู่ภายใต้กรอบวงเงินเดิม คาดเปิดประมูลในปี 2567 ระยะเวลาก่อสร้าง 35 เดือน (ปี 2568-2571) เปิดบริการปี 2571
2. สายสีแดง ช่วงรังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทางรวม 8.84 กม. มี 4 สถานี ได้แก่ สถานีคลองหนึ่ง สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถานีเชียงราก และสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วงเงินโครงการ 6,473.98 ล้านบาท ซึ่งปรับจาก 6,468.69 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นประมาณ 5.29 ล้านบาท เนื่องจาก คำนวนปรับราคากลาง (Factor F) มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จาก 5% เป็น 7% คาดเปิดประมูลในปี 2567 ระยะเวลาก่อสร้าง 35 เดือน (ปี 2568-2571) เปิดบริการปี 2571
3. สายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช ระยะทางรวม 5.7 กม. มี 3 สถานี ได้แก่สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน สถานีจรัญสนิทวงศ์ และสถานีธนบุรี - ศิริราช วงเงินโครงการ 4,616 ล้านบาท รฟท. ดำเนินการกำหนดราคากลาง (Factor F)ตามประกาศของกรมบัญชีกลาง เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2566 แล้ว วงเงินยังอยู่ภายใต้กรอบวงเงินเดิมคาดเปิดประมูล ในปี 2567 ระยะเวลาก่อสร้าง 35 เดือน (ปี2568-2571) เปิดบริการปี 2571
ล่าสุด ทางคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท.ได้มีมติอนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 อีก 3 เส้นทางระยะทางรวม 634 กม. วงเงินรวมทั้งสิ้น 133,147.23 ล้านบาท ซึ่งรฟท.เตรียมนำเสนอมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอครม.ต่อไปซึ่งจะพยายามผลักดันให้ก่อสร้างภายในปี 2567 ได้แก่
- ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 281 กม. วงเงิน 81,143.23 ล้านบาท
- ช่วงชุมทางถนนจิระ - อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 44,103.11 ล้านบาท
- ช่วงชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7,900.89 ล้านบาท
โดยเฉพาะเส้นทางชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ที่จะช่วยสนับสนุนการค้าชายแดน เส้นทางมีระยะทางสั้น 45 กม. สามารถดำเนินการได้เร็ว
นอกจากนี้ จะเร่งอีก 3 เส้นทาง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอบอร์ด รฟท.พิจารณา ระยะทางรวม 678 กม. วงเงินรวม 148,591.50 ล้านบาท ได้แก่
- ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 24,294.36 ล้านบาท
- ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 67,459.36 ล้านบาท
- ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 56,837.78 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ ครม.ได้อนุมัติไปแล้ว 1 เส้นทางคือ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 29,748 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำเอกสารประกวดราคา (TOR) คาดว่าจะเปิดประกวดราคาก่อสร้างได้เร็วๆ นี้ ตามแผน จะเริ่มก่อสร้างภายในเดือนก.ค. 2567