นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง แถลงความคืบหน้าโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ยืนยันว่า ในไตรมาส 4 ของปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค.) ประชาชนจะได้รับเงิน 10,000 บาท ไม่เลื่อนแน่นอน ส่วนกรอบเวลาชัดเจนนั้นทาง คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (บอร์ดดิจิทัลชุดใหญ่) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะมีการประชุมสรุปรายละเอียดทั้งหมดในวันที่ 10 เม.ย. ก่อนส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
โดยเงื่อนไขหลักจะไม่เปลี่ยนแปลง และไม่ได้ลดจำนวนกลุ่มเป้าหมาย 50 ล้านคน
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ไทม์ไลน์มีความชัดเจนขึ้น คณะอนุกรรมการสอบถามความจริงได้ดำเนินการใกล้เสร็จสิ้นแล้ว และเตรียมนัดหมายรายงานความคืบหน้า พร้อมตอบคำถามต่อที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ในวันที่ 27 มี.ค. นี้ รวมถึงส่วนงานหรือองค์กรต่างๆ ได้ตอบคำถามมาแล้ว หลังจากส่งคำถามไปไม่น้อยกว่า 100 ส่วนงาน ทั้งภาควิชาการภาคประชาชนกลุ่มหอการค้ากลุ่มสภาอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้ส่งคำตอบกลับมาเกือบครบถ้วน แต่ยังเปิดรับฟังให้ถึง 29 มี.ค. ก่อนจะสรุปรายละเอียดอีกครั้ง
นอกจากนี้ ในวันที่ 27 มี.ค. จะมีการนำรายงานข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เป็นทางการเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อรับทราบ ก่อนจะมอบหมายให้แต่ละส่วนงานไปดำเนินการตามรายละเอียด และกำหนดนัดคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้งในวันที่ 10 เม.ย.นี้ โดยจะมีการสรุปรายละเอียดโครงการ และเงื่อนไขทั้งหมดเพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาความเห็นชอบและเดินหน้าต่อ
"เชื่อว่าในช่วงระยะเวลาไม่นานจะส่งเข้าสู่ครม. หลังจากนั้นวางกรอบการทำงาน ซึ่งได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ทั้งกรอบกฎหมายหรือตัวเงิน หรือกรอบด้านเทคนิค ระบบต่างๆ ที่กำหนดคร่าวๆ เบื้องต้น" นายจุลพันธ์ กล่าว
ทั้งนี้ คาดว่า ในไตรมาส 3 ของปีนี้ จะเปิดให้มีการลงทะเบียนร้านค้าและประชาชน ซึ่งระบบค่อนข้างพร้อมแล้วในช่วงนั้น และในไตรมาส 4 ของปีนี้ก่อนสิ้นปีจะมีการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ถึงมือประชาชนทุกคนที่อยู่ในกรอบในเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 50 ล้านคน และใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังเหมือนเดิม
"ไตรมาสสุดท้าย คือช่วงเดือนตุลาคมพ.ย. ธ.ค. จะทำให้เร็วที่สุด เพราะต้องทดสอบระบบอะไรต่างๆ เรื่องที่ช้าที่สุดคือเรื่องของระบบ" นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า มีเงินที่จะมาใช้ในโครงการแน่นอน แต่จะออกเป็นพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด ก็ต้องรอการประชุมในวันที่ 10 เม.ย. นี้ แต่ขอให้มั่นใจว่า มีเงินให้กับประชาชนแน่นอน โดยที่ไม่เสี่ยง แต่ยังไม่ขอบอกที่มา เพราะไม่สามารถชี้แจงก่อน อาจจะเข้าข่ายผิดกฏหมาย
พร้อมระบุว่า เงื่อนไขรายละเอียดของกลุ่มคนที่จะได้รับยังไม่มีเปลี่ยนแปลง หรือลดจำนวนกลุ่มที่ได้รับเงิน ทั้งนี้ รายละเอียดทั้งหมดจะชัดในการประชุมบอร์ดชุดใหญ่ในวันที่ 10 เม.ย. เช่นกัน
สำหรับรายงานของป.ป.ช.ที่จะหารือ 27 มี.ค. นายจุลพันธ์ กล่าวว่า มีข้อสังเกตไม่ต่างจากเดิมไม่มีกระบวนการเพิ่มเติมในส่วนนั้น เพียงแต่ครั้งที่แล้วถ้าจำไทม์ไลน์ได้ คือการเข้าครั้งนั้น เป็นการแถลงข่าวของป.ป.ช.มาสรุปให้ฟัง แต่ตัวหนังสือยังมาไม่ถึง ครั้งนี้หนังสือมาถึงอย่างเป็นทางการ จึงต้องนำเข้าพิจารณาอย่างเป็นทางการในที่ประชุมตามกฎหมาย
"ย้ำอีกครั้งว่า จะไม่เลื่อนการแจกเงินอีกแล้ว และได้พูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลมาโดยตลอด ซึ่งรัฐมนตรีทุกคนร่วมประชุมครม. และรับทราบความคืบหน้าและสนับสนุนตลอดเวลา"
ส่วนที่มีการมองว่า นโยบายและเงื่อนไขของโครงการไม่ตรงตามที่หาเสียงไว้ นายจุลพันธ์ ชี้แจงว่า ยอมรับว่าการดำเนินการอาจต้องมีจุดที่จำเป็นต้องปรับแก้ เพื่อให้นโยบายเป็นไปตามกรอบกฏหมายและเดินหน้าโครงการได้
อย่างไรก็ดี ตนยังไม่ได้เป็นห่วงที่ป.ป.ช.ระบุว่า นโยบายไม่ได้เป็นไปตามที่หาเสียงไว้ เพราะขณะนี้คือนโยบายของรัฐ ซึ่งได้แถลงต่อรัฐสภา โดยรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสม จึงต้องหารือถึงจุดสมดุลตามนโยบายต่างๆ ไม่ได้เป็นพรรคใดพรรคหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายแล้วจึงต้องเดินหน้าในรูปแบบนี้
ดังนั้น เมื่อเดินหน้าโครงการ ต้องหากลไกที่เหมาะสมตอบสนองต่อหลักการและวัตถุประสงค์ของนโยบายให้มากที่สุด และยืนยันว่า นโยบายนี้ไม่ได้เป็นการจูงใจให้เลือกตั้ง เพราะผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว แต่เป็นการทำนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจให้กับประชาชน แต่การเลือกตั้งทุกพรรคการเมืองก็มีนโยบายในลักษณะนี้ ไม่แตกต่างจากนโยบายบัตรคนจน การเพิ่มเงินสวัสดิการผู้สูงอายุ ซึ่งก็ไม่แตกต่างกันและมีกลไกลักษณะเดียวกัน และถือเป็นแนวนโยบายแต่ละพรรค และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้ชี้แจงก่อนหน้านี้แล้ว