นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมี.ค.67 ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก จากปัจจัยสนับสนุนในภาคบริการเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและภัยแล้ง
- ภาคตะวันออก
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 83.6 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในภาคบริการ จากมาตรการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะช่วยให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อผ่านช่วงมรสุมไปแล้ว และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พบว่ายังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 85.9
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 75.2 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นในภาคบริการ จากการบริโภคภาคเอกชนและการบริการการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ และภาคเกษตรกรรมที่จะเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกในระยะถัดไป รวมถึงประเมินว่าราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดยังอยู่ในเกณฑ์ดีและอุปสงค์สินค้าเกษตรมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น
- ภาคตะวันตก
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 74.8 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม โดยคาดว่าทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จะสนับสนุนให้การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และภาคบริการที่ได้รับปัจจัยบวก จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งจากภาครัฐและเอกชน
- ภาคใต้
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 73.8 สะท้อนความเชื่อมั่นในภาคบริการ ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการยกเลิกการตรวจลงตราเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกัน หรือ Visa-Free ซึ่งจะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวจีน อินเดีย และรัสเซียเดินทางเข้ามาในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในระยะ 6 เดือนข้างหน้าจะมีเทศกาลวันหยุดยาวหลายช่วง และภาคการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา
- ภาคเหนือ
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 72.5 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ ที่คาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวที่ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา และมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการบริโภคและการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัว สะท้อนจากข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม จำนวนทุนจดทะเบียนของอุตสาหกรรม และภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง แต่คาดว่าฤดูฝนจะมาเร็ว และสถานการณ์ภัยแล้งอาจไม่รุนแรงเหมือนที่เคยประเมินไว้ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก
- ภาคกลาง
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 71.3 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ ทั้งมาตรการลดภาระค่าครองชีพและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย และภาคการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น จากแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย และความต้องการสินค้าไทยจากต่างประเทศที่มากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยเฉพาะช่วงที่อากาศร้อนอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคปศุสัตว์ได้
- กทม. และปริมณฑล
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 68.9 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จากความเชื่อมั่นในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม จากมุมมองเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม และการดำเนินมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ จากรัฐบาล โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดี