สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ.67 อยู่ที่ระดับ 99.27 ลดลง 2.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.) ลดลง 2.88%
ทั้งนี้ ดัชนี MPI หดตัวมาจากปัจจัยสำคัญ คือ การผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 7 เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้ายังคงชะลอตัว โดยเฉพาะจีนที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย และหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุน เช่น การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเป็นเดือนที่ 5 การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว และมาตรการลดหย่อนภาษีจากภาครัฐกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือน
ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือน ก.พ. อยู่ที่ 59.77% และช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 59.48%
"ดัชนีฯ หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 จากอุตสาหกรรมหลักที่หดตัว และมีน้ำหนักในการคำนวณดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ลดลง 19.28% แต่จากทิศทางการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวมากถึง 25.58% น่าจะส่งสัญญาณให้ดัชนีในเดือน มี.ค.ดีขึ้น" นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อดัชนี MPI เดือน ก.พ.67 ได้แก่
- การกลั่นน้ำมัน ขยายตัว 7.59% จากความต้องการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่ง เพื่อรองรับการเติบโตด้านการท่องเที่ยวที่คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 35 ล้านคน
- ปุ๋ยเคมี ขยายตัว 39.82% จากการทำโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย สินค้าเกษตรปรับราคาดีขึ้น ทำให้เกษตรกรมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ขณะที่ปีก่อนมีฐานต่ำ
- เครื่องประดับเพชรพลอย ขยายตัว 24.56% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เช่น กาตาร์, เบลเยี่ยม, อินเดีย, ฮ่องกง, เยอรมนี, ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ และการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว
ส่วนอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือน ก.พ.67 ได้แก่
- รถยนต์ หดตัว 16.83% จากยอดขายรถปิกอัพ รถยนต์นั่ง เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ ตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศ เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนตัวลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินจาก 70-80% เหลือแค่ 30% โดยพบยอดรถยนต์ถูกยึดมากถึง 3 แสนคัน ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อการซื้อ ส่วนผลกระทบจากการแย่งส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่ชัดเจน นอกจากนี้ ผู้บริโภคอาจรอดูโปรโมชั่นจากค่ายรถยนต์ในงานมอเตอร์โชว์
- ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หดตัว 18.66% จาก Integrated circuits (IC) และ PVBA ตามความต้องการของตลาดโลกที่ลดลง
- น้ำมันปาล์ม หดตัว 27.23% จากผลผลิตที่ลดลงเนื่อง จากผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง การหดตัวของตลาดทั้งในประเทศและการส่งออก หลังอินโดนีเซียกลับมาส่งออกอีกครั้ง
ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในภาพรวมของไทยเดือน มี.ค.67 ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในทิศทางดีขึ้น เนื่องจากภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในระยะนี้ สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ยังคงต้องเฝ้าระวังตลาดสหรัฐฯ และติดตามภาวะถดถอยในภาคการผลิตของญี่ปุ่น