นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลได้มีนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค บวท.พร้อมสนับสนุนผลักดัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินและรองรับการบินที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตจากแนวโน้มหลายประเทศสั่งซื้อเครื่องบินเพิ่ม เช่น จีน ซื้อแอร์บัส A 320 400 ลำ อินเดียซื้อ 1,000 ลำ ซึ่งจะทำให้โครงข่ายการบินระหว่าง จีน อินเดีย และภูมิภาคอาเซียนจะเพิ่มมากขึ้นอีกมาก
ระยะเร่งด่วน คือ การพัฒนาเส้นทางบินเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจราจรทางอากาศรองรับเที่ยวบินเพิ่ม โดยมี Flagship ภายใน 7 ปี รองรับ 2 ล้านเที่ยวบิน/ปี คาดว่าจะลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยีระดับสูง 6,000 ล้านบาท สามารถควบรวมการบริหารจราจรทางอากาศสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมืองและอู่ตะเภา ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ติดตามและจัดการขึ้นลงได้อย่างแม่นยำ และคล่องตัว ซึ่งจะสูงกว่า สิงคโปร์และฮ่องกง หรือเทียบเท่ากับประสิทธิภาพของลอนดอนที่มี 5 สนามบิน
เดิมแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะรองรับ 2 ล้านเที่ยวบิน/ปีให้ได้ภายในปี 81 หรือภายใน 15 ปี ซึ่งช่วงก่อนโควิด-19 บวท.ได้ลงทุนราว 3,000 ล้านบาทพัฒนาศักยภาพหอบังคับการบิน 36 แห่งทั่วประเทศ แต่เนื่องจากนโยบายรัฐบาลสนับสนุนศูนย์กลางการบินในภูมิภาค จึงมีการเร่งรัดการพัฒนาสนามบินแห่งใหม่ทั้งอันดามันและล้านนา โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนและงบลงทุน จึงต้องมีการลงทุนเพื่ออัพเกรดระบบคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการพัฒนาโครงการอู่ตะเภาเฟสศูนย์ (ช่วงเวลาก่อนเปลี่ยนผู้ดำเนินการสนามบินจากกองทัพเรือเป็น UTA) เพื่อสนับสนุนการบิน มุ่งเน้นการขนส่งสินค้าทางอากาศ จากเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะเที่ยวบินจากประเทศจีน มีเป้าหมายที่ 3 ล้านเที่ยวบิน/ปี เท่าศักยภาพของอู่ตะเภา
ปัจจุบัน บทว.ได้จัดทำเส้นทางบินแบบคู่ขนาน (Parallel Routes) ทางด้านเหนือไปยังสนามบิน เชียงใหม่ เชียงราย และเส้นทางบินแยกย่อยไปยังสนามบินต่างๆ ในภาคเหนือ รวมถึงการเชื่อมต่อเส้นทางบินระหว่างประเทศเพื่อรองรับเที่ยวบินจากจีน ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงไปยังเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน เช่น คุนหมิง กุ้ยหยาง เฉิงตู เทียนฟู ฉงชิง ซีอาน แต่ปัจจุบัน มีจุดเข้า-ออก ไทย ผ่านสปป.ลาว ไปจีนมีเพียงจุดเดียว จึงเกิดปัญหาคอขวด เครื่องบินรอต่อคิวนานเป็นชั่วโมง จึงมีการเจรจาเพื่อเพิ่มประตูเข้า-ออกจีน ผ่านสปป.ลาวอีกเส้นทางคู่ขนาน ซึ่งจะมีการหารือร่วมกัน 3 ประเทศเร็วๆนี้ ก่อนนำเสนอ ICAO เห็นชอบ เพราะต้องมีการทำแผนการบินและความปลอดภัย และผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานการบินพลเรือนของแต่ละประเทศ คาดว่าจะสรุปและออกประกาศได้ในต้นปี 2569 ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถจาก 1 แสน เป็น 2 แสนเที่ยวบิน/ปี จากเมื่อปี 62 ที่มีปริมาณมากสุด 85,000 เที่ยวบิน ซึ่งพบปัญหาหนาแน่น
ด้านตะวันตก มีแผนและอยู่ระหว่างผลักดันเพื่อจัดทำเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศ เพื่อรองรับเที่ยวบินจากอินเดีย บังคลาเทศ และยุโรป เนื่องจากยังติดสถานการณ์ภายในประเทศพม่า และประเด็นห้วงอากาศระหว่างอินเดียและเมียมา ซึ่งปัจจุบันเส้นทางบินนี้ติดคอขวดที่ผ่านเมียนมายังมีปัญหาด้านบริการที่จะรองรับเที่ยวบิน การบริหารจัดการระยะห่างเที่ยวบินประมาณ 10 กว่านาที/ลำ ซึ่งก่อนโควิดมีเที่ยวบินผ่านเส้นทางนี้ไปยุโรปประมาณ 100,000-150,000 เที่ยวบิน/ปี โดยจะผลักดันลดระยะห่างเที่ยวบิน เพื่อเพิ่มเป็น 200,000 เที่ยวบินหรือเพิ่มขึ้น 30% และหากเปิดเส้นทางบินเพิ่มอีกจะเพิ่มป็น 250,000 เที่ยวบินได้
ด้านตะวันออก ได้จัดทำเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศรองรับเที่ยวบินจากกัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ในขณะที่ด้านใต้ ได้จัดทำเส้นทางบินคู่ขนานในประเทศรองรับเที่ยวบินไปยังสนามบิน ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตรัง และเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศ รองรับเที่ยวบินจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย
*คาดปี 68 การบินกลับมาเท่าก่อนเกิดโควิด
นายณพศิษฏ์ กล่าวว่า ปี 66 ปริมาณการบินฟื้นกลับมาที่ 8 แสนเที่ยวบิน หรือคิดเป็นราว 80% ของช่วงก่อนโควิดที่มี 1 ล้านเที่ยวบิน/ปี และในปี 67 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 9 แสนเที่ยวบิน สร้างรายได้ 11,000 -12,000 ล้านบาท ก่อนจะกลับไปเป็น 1 ล้านเที่ยวบิน/ปีในปี 68 เท่ากับช่วงก่อนโควิด ประเมินรายได้ 13,000 ล้านบาท ขณะที่ช่วงโควิด บวท.ไม่มีรายได้และได้นำเงินสะสมกว่า 9,000 ล้านบาทมาใช้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง จึงถือว่าตอนนี้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
ขณะที่ปัจจุบันมีเที่ยวบิน 2,300 เที่ยวบิน/วัน คาดว่าช่วงสงกรานต์ปีนี้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% หรือมี 2,400 เที่ยวบิน/วัน