ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรแข็งเทียบดอลล์ หลังธนาคารกลางยุโรปตรึงดอกเบี้ย

ข่าวต่างประเทศ Friday May 9, 2008 07:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ภาวะการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (8 พ.ค.) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร หลังจากธนาคารกลางยุโรปแสดงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อในเขตยูโรโซน ภายหลังจากธนาคารกลางประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยเมื่อวานนี้
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินยูโรแข็งขึ้นแตะระดับ 1.5398 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.5390 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลงแตะระดับ 1.9529 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.9536 ดอลลาร์/ปอนด์
หากเทียบกับสกุลเงินเยนและฟรังค์สวิส ดอลลาร์อ่อนตัวลงแตะระดับ 103.90 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 104.65 เยน/ดอลลาร์ และอ่อนค่าลงแตะระดับ 1.0519 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0548 ฟรังค์/ดอลลาร์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 0.9435 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.9411 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์นิวซีแลนด์อ่อนค่าลงแตะระดับ 0.7710 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7815 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์
เมื่อวานนี้ ธนาคารกลางยุโรปตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิมที่ 4.00% ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารที่กรุงเอเธนส์ ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางยุโรปยังคงกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อในเขตยูโรซึ่งสูงถึง 3.3% ในเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่เหนือเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรปที่ระดับ 2%
นอกจากนี้ ธนาคารกลางอังกฤษประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ 5.00% ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายเมื่อวานนี้ แม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยก่อนหน้าการประชุมจะอ่อนแอก็ตาม
การตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นไปตามการคาดการณ์ส่วนใหญ่ โดยนักเศรษฐศาสตร์ 35 คน จากทั้งหมด 36 คน ที่ธอมสัน ไฟแนนเชียล นิวส์ ได้ทำการสำรวจไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เชื่อว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารจะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ย
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้นหลังจากนายโธมัส โฮนิก ผู้ว่าการเฟดสาขาแคนซัส ซิตี้ กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่รุนแรง ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เฟดจำเป็นต้องเตรียมพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อยับยั้งเศรษฐกิจถดถอย พร้อมกล่าวว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อสูงขึ้นด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ