ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน ก.พ.67 เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังขยายตัวอยู่ในระดับต่ำโดยภาคบริการยังขยายตัวต่อเนื่องตามรายรับและจ่านวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ด้านการลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นในบางหมวด ขณะที่การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำลดลงจากเดือนก่อน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลง จากหมวดพลังงานเป็นส่าคัญ ตามราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารในหมวดพื้นฐาน จากผลของฐานสูงในปีก่อน
ส่วนแนวโน้มเดือน มี.ค.67 คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังได้รับแรงส่งจากภาคท่องเที่ยว แต่ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ระยะต่อไปยังต้องติดตาม 1) การฟื้นตัวของการค้าโลก 2) ผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และ 3) การใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธปท. เปิดเผยว่า ในเดือน ก.พ.67 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ อยู่ที่ 3.4 ล้านคน และรายรับภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งได้รับผลดีจากมาตรการวีซ่าฟรีและเทศกาลตรุษจีน และนักท่องเที่ยวมาเลเซีย จากการท่องเที่ยวก่อนการถือศีลอดในช่วงรอมฎอนที่เร็วกว่าปกติในปีนี้ รวมทั้งนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น เข้ามามากขึ้นหลังจากชะลอตัวไปในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับมีวันหยุดยาว
- เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์จากการนำเข้าสินค้าทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะการนำเข้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องที่ขยายตัวสูง อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ขณะที่พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างทรงตัว แม้พื้นที่ฯ เพื่ออุตสาหกรรมและโรงงานเพิ่มขึ้นตามการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม
- ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากปัจจัยชั่วคราวตามการเร่งผลิตปิโตรเลียม หลังปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในเดือนก่อน ประกอบกับการผลิตหมวดเคมีภัณฑ์ที่ปรับดีขึ้น จากการผลิตพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น สอดคล้องกับการส่งออกไปจีนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการผลิตหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูปและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดยานยนต์ลดลง จากทั้งการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะ
- เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดบริการและสินค้าไม่คงทน ส่วนหนึ่งยังได้รับผลดีจากมาตรการภาครัฐทั้งการอุดหนุนราคาพลังงานและการลดหย่อนภาษีต่อเนื่องจากเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนลดลง โดยเฉพาะยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ
- มูลค่าการส่งออกสินค้าเดือนก.พ. หากไม่รวมทองคำ ลดลงในหลายหมวดสินค้า เนื่องจากหลายกลุ่มสินค้ายังถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังอยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้างการผลิตของไทย โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามการส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสารไปสหรัฐฯ รวมถึงการส่งออกแผงวงจรรวม และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปจีนและฮ่องกง ยานยนต์ตามการส่งรถกระบะไปออสเตรเลียเป็นสำคัญ และปิโตรเลียมจากการส่งออกไปอาเซียน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าสินค้าทุน และสินค้าอุปโภคและบริโภค
- การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน หดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่ยังหดตัวสูงตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และรายจ่ายประจำที่หดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อน ตามการเลื่อนเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษาเป็นสำคัญ รวมถึงปีก่อนมีการเบิกจ่ายในมาตรการลดค่าไฟฟ้า และโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว จากผลของฐานสูงในปีก่อนที่มีการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคม
- ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.พ.ติดลบน้อยลง โดยอยู่ที่ -0.77% จากหมวดพลังงานเป็นสำคัญจากราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 0.43% ลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารในหมวดพื้นฐานจากผลของฐานสูงในปีก่อน แม้ราคาในหมวดอาหาร อาทิ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหารบริโภคนอกบ้านยังเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานทรงตัวจากเดือนก่อนโดยการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงถูกชดเชยด้วยการจ้างงานในภาคบริการ
- สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลที่ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เช่นเดียวกับดุลการค้าที่กลับมาเกินดุล และดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนทั้งสินเชื่อ ตราสารหนี้และตราสารทุนเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ขยายกิจการและจ่ายคืนหนี้บางส่วน
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในเดือนก.พ. เฉลี่ยอ่อนค่าลง เนื่องจากตลาดปรับคาดการณ์การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่ช้าออกไป หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจไทยออกมาต่ำกว่าคาด ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค