ชงผลศึกษากาสิโนเสรีเข้าครม.สัปดาห์หน้า "จุลพันธ์" ลั่นเพ้อเจ้อ! ล็อกสเปคอู่ตะเภา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 1, 2024 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) คาดว่าจะมีการเสนอรายงานการศึกษาผลกระทบการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้น จะขึ้นอยู่กับ ครม.ว่าจะมีการถกเถียงเรื่องนี้ หรือมีข้อสังการเพิ่มเติมอย่างไร

"เท่าที่ได้มีการพูดคุยกันนอกรอบกับ ครม. ก็มีสัญญาณที่ดี ส่วนร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นเพียงการขึ้นโครงไว้ว่าจะต้องมีการดำเนินการอย่างไรต่อ จะต้องปรับแก้อะไรบ้าง โดยเฉพาะกฎหมายลูกที่เกี่ยวเนื่อง และสุดท้าย กลไกของกฎหมายจะต้องส่งกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อแปรญัตติว่าจะแก้อะไร ตรงไหน เช่น เรื่องกรอบอำนาจหน้าที่ รายละเอียดคณะกรรมการ กลไกการเยียวยาผ่านกองทุน กลไกการกำกับ ตรงไหนมีข้อท้วงติง ติดขัด ก็ต้องแก้กันในขั้นตอนนี้ทั้งหมด" นายจุลพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ข้อเสนอว่าจำเป็นจะต้องมีหน่วยงานแยกออกมาเพื่อดูแล เป็น 2 ระดับ คือ 1. ระดับคณะกรรมการดูแลนโยบาย ซึ่งจะมีนายกรัฐมนตรี และครม.หลายคนร่วมด้วย เพื่อดูแลในเรื่องการบริหาร และ 2. คณะกรรมการระดับส่วนราชการ แต่จะไม่ใช่องค์กรอิสระ

รมช.คลัง กล่าวถึงกระแสข่าวว่ามีการล็อกสเปคพื้นที่อู่ตะเภา เพื่อสร้าง Entertainment Complex ว่า เป็นเรื่องเพ้อเจ้อที่พูดกันไปเอง คิดกันไปเอง ทั้งนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ ในการเลือก หรือกำหนดว่าพื้นที่ไหนเหมาะสม และยืนยันว่าคณะกรรมาธิการฯ และรัฐบาลไม่ได้มีการล็อกสเปคพื้นที่ เพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องรอกลไกของกฎหมายทั้งหมดให้เรียบร้อยก่อน จึงจะสามารถเดินหน้าได้ และตอนนี้กลไกทั้งหมดยังไม่ได้เริ่มด้วยซ้ำ

สำหรับเม็ดเงินลงทุนในการพัฒนา Entertainment Complex นั้น นายจุลพันธ์ แสดงความเห็นว่า ส่วนตัวมองว่าต่อจุดไม่น่าจะต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนรายได้ตอบแทน เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ที่แต่ละปีรัฐบาลสิงคโปร์จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี และรายได้ในรูปแบบอื่น ๆ ไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ไทยเองไม่ได้มีจุดที่ด้อยกว่า โดยรัฐบาลมองว่าการลงทุนที่จะเกิดขึ้นนี้ จะเป็นการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างรายได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเลยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคม

ทั้งนี้ รายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบในการจัดตั้งทั้งหมดยังไม่มี เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการหารือ แต่เบื้องต้นมองว่า Entertainment Complex เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ น่าจะเปิดให้เป็นการลงทุนในรูปแบบบริษัทมหาชน เพราะต่างประเทศก็เป็นรูปแบบดังกล่าว และอยู่ในตลาดทุนขนาดใหญ่ทั้งนั้น ส่วนจะเป็นการลงทุนจากนักลงทุนไทยหรือนักลงทุนต่างชาติ อยู่ที่ความเหมาะสม แต่ว่าถ้าผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับผ่านการลงทุนที่จะคืนมาในรูปแบบภาษีต่าง ๆ ถ้าคุ้ม รัฐบาลก็พร้อมจะพิจารณาทั้งหมด ส่วนการให้ไลเซ่น Entertainment Complex จะต้องโปร่งใส และยุติธรรม โดยจะเป็นกาสิโนไม่เกิน 5% ของพื้นที่ ส่วนที่เหลือจะเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวประเภทอื่น ๆ เพื่อดึงดูดคนเข้ามา

"เรามองว่าเรื่องนี้เป็นการแก้ไข เอาสิ่งที่เห็นว่ามีอยู่แล้ว แต่แกล้งว่ามันไม่มี เอาขึ้นมา เพื่อหาทางควบคุม กำกับ เพื่อไม่ให้เกิดการลักลอบ เพราะสุดท้ายกลุ่มที่เราเป็นห่วงที่สุด คือเยาวชน เรื่องนี้ประเทศไทยพูดกันมา 30-40 ปีแล้ว แต่ไม่เคยเดินหน้า แต่ครั้งนี้เอามานั่งคุย ถกเถียงกันอย่างจริงจัง พยายามยกร่างกฎหมาย ให้มีกลไกในการกำกับหลายอย่าง" รมช.คลัง กล่าว

นอกจากนี้ มองว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีสถานที่จัดงานที่มีความพร้อม เช่น ก่อนหน้านี้ไทยมีคอนเสิร์ต Bruno mars ในสังคมโซเชียลของไทยมีการพูดกันเยอะว่า สถานที่จัดงานยังไม่มีความพร้อม ตรงนี้อาจถึงจุดที่สามารถบอกได้ว่าไทยจำเป็นต้องทำ Entertainment Complex แต่ต้องมีการพัฒนาประกอบเข้ามาด้วย เช่น อาจจะพัฒนาเป็น Indoor Stadium ขนาดใหญ่ ความจุ 5-6 หมื่นคน และอาจจะต้องกำหนดว่าในพื้นที่ดังกล่าว ต้องมีมีธีมพาร์ค มีสวนสนุกขนาดใหญ่ ต้องมีดิสนีย์แลนด์ ต้องเป็นยูนิเวอร์แซล ทุกอย่างทำได้หมด เหล่านี้ถือเป็นการพัฒนาประเทศดึงดูดการท่องเที่ยวและการลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ