ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) คาดเม็ดเงินสะพัดช่วงสงกรานต์ปี 67 ทะยานแตะ 4.2 หมื่นล้านบาท จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และวันหยุดพิเศษที่ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว แนะภาครัฐส่งเสริมต่อยอดและวางแผนการกำหนดวันหยุดให้มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างเม็ดเงินให้สะพัดในภาคการท่องเที่ยวไทย
ttb analytics ระบุว่า เทศกาลสงกรานต์เป็นวันหยุดประจำปีของไทยที่เป็นโอกาสสำคัญในการกลับภูมิลำเนาเพื่อพักผ่อนใช้เวลากับครอบครัว เนื่องจากเป็นวันหยุดยาวที่ตรงตามเทศกาลอย่างน้อย 3 วัน และเมื่อรวมกับวันหยุดสุดสัปดาห์รวมถึงวันหยุดพิเศษตามประกาศของภาครัฐ ทำให้วันหยุดรวมมีระยะเวลานานเพียงพอที่จะทำให้ผู้จากถิ่นฐานหรือภูมิลำเนาที่เดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครปริมณฑล และภาคตะวันออก สามารถกลับไปพักผ่อนใช้ชีวิตกับครอบครัวที่ภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลได้
นอกจากนี้ ด้วยวันหยุดที่มีระยะเวลานาน ยังส่งผลดีต่อกลุ่มที่มีแหล่งงานในภูมิลำเนาตนเอง หรือกลุ่มที่ไม่ตัดสินใจเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ต่างจังหวัด โดยเลือกที่จะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อเดินทางท่องเที่ยวแบบไม่เหนื่อยจนเกินไป จากจำนวนวันหยุดที่ยาวนาน และยังเหลือวันหยุดเพื่อพักผ่อนหลังเดินทางท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม เทศกาลสงกรานต์ในปี 67 นับเป็นปีที่วันหยุดค่อนข้างเอื้ออำนวยให้กับภาคการท่องเที่ยวสำหรับประชาชนบางกลุ่มที่สามารถลางานในช่วงวันที่ 9-11 เม.ย. ได้ นับว่าเทศกาลนี้จะลากยาวถึง 11 วัน เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ก่อนเทศกาลก่อนสงกรานต์ มีวันหยุดชดเชยวันจักรีในวันจันทร์ที่ 8 เม.ย. และวันหยุดพิเศษตามประกาศของรัฐบาลในวันศุกร์ที่ 12 เม.ย. และแม้แต่ในส่วนกลุ่มที่ไม่สามารถลางานในสัปดาห์ก่อนวันสงกรานต์ วันหยุดยาวก็ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ ช่วงวันที่ 6-8 เม.ย. และวันที่ 12-16 เม.ย. ซึ่งก็นับเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว และเม็ดเงินที่คาดว่าจะสะพัดเป็นพิเศษในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 67
ttb analytics ระบุว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยในเทศกาลสงกรานต์ ส่วนใหญ่มักเดินทางกลับภูมิลำเนาจากแหล่งงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ EEC รายจ่ายในส่วนของการเดินทางกลับภูมิลำเนา ไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากรายจ่ายปกติ แต่อาจเพิ่มขึ้นในส่วนของการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวของกลุ่มที่ไม่ได้กลับภูมิลำเนา หรือกลุ่มที่กลับภูมิลำเนาและเดินทางท่องเที่ยวไปในภูมิภาคที่ใกล้เคียงกับครอบครัว
ทั้งนี้ ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในพื้นที่ภูมิภาคไม่นับกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีรายจ่ายในบางรายการสูงขึ้น เช่น รายจ่ายค่าเดินทางโดยเฉลี่ยต่อคนต่อวันปรับเพิ่มขึ้น 6.9% รายจ่ายเกี่ยวกับอาหารและซื้อสินค้าที่คาดว่าจะปรับตัวจากรูปแบบวิถีชีวิตของชาวไทยที่เมื่อมีการรวมกลุ่ม คาดปรับเพิ่มขึ้น 12.9%
ในขณะที่เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในภาคโรงแรมโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มเพียง 2.7% เนื่องจากเทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลที่คนส่วนหนึ่งกลับภูมิลำเนา จึงพักอาศัยที่บ้านเกิดของตน แต่อาจได้รับอานิสงส์จากกลุ่มที่ตั้งใจเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลโดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภาคตะวันออก และจังหวัดติดทะเลใกล้กรุงเทพฯ โดยจากรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ttb analytics ประเมินเม็ดเงินที่สะพัดช่วงเทศกาลสงกรานต์ของนักท่องเที่ยวชาวไทยคาดอยู่ที่ 17,200 ล้านบาท
ในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากในช่วงไตรมาสแรกของปีเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวที่ได้รับแรงหนุนจากช่วงวันหยุดยาว Golden Week ของชาวจีน และเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวยุโรปหนีความหนาวมาพักพิงในภูมิภาคที่มีความอบอุ่น ส่งผลให้ในเดือนเม.ย. นี้ แม้จะมีแรงส่งจากเทศกาลสงกรานต์ แต่เชื่อว่ายังไม่สามารถชดเชยส่วนต่างที่หายไปจากฤดูท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสแรกของปี
อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวด้านจำนวนคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเม.ย. 67 จะมีจำนวนราว 3 ล้านคน เพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อนหน้ากว่า 42% (เดือนเม.ย. 66 นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 2.18 ล้านคน) ซึ่งเป็นปัจจัยบวกสำหรับการท่องเที่ยวไทย โดยเม็ดเงินที่สะพัดช่วงเทศกาลสงกรานต์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดอยู่ที่ 24,300 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อรวมเม็ดเงินจากทั้งกลุ่มคนไทยและต่างชาติ พบเม็ดเงินที่สะพัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เฉพาะวันที่ 12-16 เม.ย. คาดว่าจะแตะ 41,500 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงปี 66 ที่เม็ดเงินสะพัดช่วงสงกรานต์ราว 26,800 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 55% ด้วยสาเหตุหลักซึ่งประกอบด้วยเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และช่วงวันหยุดสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ดีกว่าปีก่อนที่เทศกาลมีวันหยุดเพียง 4 วัน
นอกจากนี้ ในปี 67 เมื่อพิจารณาในระยะเวลาช่วงวันหยุดยาวสัปดาห์ก่อนสงกรานต์ ซึ่งนักท่องเที่ยวบางกลุ่มเริ่มจับจ่ายตั้งแต่ช่วงวันที่ 6 เม.ย. ลากยาวจนเดินทางกลับมาทำงานหลังสงกรานต์ ก็คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินเพิ่มเติมราว 25,800-37,400 ล้านบาท เมื่อรวม 2 ช่วงวันหยุดคิดเป็นเงินสะพัดถึง 67,300-78,900 ล้านบาท จึงเป็นเครื่องสะท้อนถึงการกำหนดวันหยุดพิเศษต่างๆ ที่ควรจะสอดคล้องและเอื้ออำนวยกับภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากแม้จำนวนวันหยุดที่เท่ากันแต่ช่วงเวลาที่ต่างกันย่อมส่งผลต่อเม็ดเงินให้สะพัดเพิ่มมากขึ้นในภาคท่องเที่ยวไทย
อย่างไรก็ดี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 67 นี้ เงินสะพัดอาจจะปรับเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าตัวเลขข้างต้น โดย ttb analytics มองภาครัฐยังสามารถต่อยอดนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ได้เพิ่มเติม เช่น
- รายจ่ายค่าที่พัก และอาหารในช่วงเทศกาลสงกรานต์สามารถนำมาลดหย่อนภาษี
- ขอความร่วมมือผู้ประกอบการทำโปรโมชันกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อเป็นแรงดึงดูดให้คนไทยที่มีความต้องการเดินทางไปต่างประเทศช่วงสงกรานต์ รู้สึกคุ้มค่าเพียงพอในการเลื่อนการเดินทางต่างประเทศออกไปในช่วงเวลาอื่นที่มีวันหยุดยาว เช่น เดือนพ.ค. หรือก.ค. และใช้ช่วงเวลาเทศกาลสงกรานต์เพื่อสร้างเม็ดเงินให้สะพัดในภาคการท่องเที่ยวไทยให้มากขึ้นในปีถัดๆ ไป