สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนมี.ค.67 อยู่ที่ 107.25 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลง -0.47% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ใกล้เคียงตลาดคาดการณ์ -0.4% โดยยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับลดลงของราคาสินค้าในหมวดอาหารสด เช่น เนื้อสุกร ผักสด เนื่องจากผลผลิตในตลาดมีปริมาณมาก ประกอบกับฐานราคาที่สูงในเดือนมี.ค.66 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ไตรมาส 1/67 (ม.ค.-มี.ค.) เฉลี่ยลดลง -0.79%
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมสินค้าหมวดพลังงาน และอาหารสด เดือนมี.ค.67 อยู่ที่ 104.61 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้น 0.37% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ไตรมาส 1/67 เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.44%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ในเดือนมี.ค.67 สินค้าและบริการ ที่ราคามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดือนก่อนหน้า (ก.พ.67) เป็นดังนี้
- สินค้าและบริการที่ราคาเพิ่มขึ้น 154 รายการ ได้แก่ นมสด, ผักกาดขาว, ผักคะน้า, มะนาว, ส้มเขียวหวาน, น้ำหวาน, ค่าเช่าบ้าน, น้ำมันเชื้อเพลิง, สุรา เป็นต้น
- สินค้าและบริการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 170 รายการ ได้แก่ ค่าน้ำประปา, ค่าไฟฟ้า, ก๊าซหุงต้ม, หนังสือพิมพ์, ค่าที่จอดรถ เป็นต้น
- สินค้าและบริการที่ราคาลดลง 106 รายการ ได้แก่ เนื้อสุกร, ไข่ไก่, กระเทียม, พริกสด, โฟมล้างหน้า, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่อัตราเงินเฟ้อต่ำ ซึ่งจากข้อมูลที่รวบรวมล่าสุดในเดือนก.พ.67 พบว่า เงินเฟ้อของไทยอยู่ระดับต่ำเป็นอันดับ 4 จาก 136 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (ลาว, เวียดนาม, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย)
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวถึงแนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาส 2/67 โดยคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาส 1 เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า นอกจากนี้ ฐานค่าไฟฟ้าในต่ำในปีก่อน โดยเฉพาะเดือนพ.ค.66 เนื่องจากรัฐบาลดำเนินมาตรการช่วยค่าครองชีพประชาชนในการปรับลดราคาค่าไฟฟ้าลงค่อนข้างมาก ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จึงทำให้ราคาสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ปีนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 0.5-0.6%
"ไตรมาส 2 เฉพาะเดือนเม.ย. เงินเฟ้อก็ยังอาจติดลบได้อยู่ แต่คงลบน้อยมาก หรือถ้าบวกก็บวกไม่มาก (ประมาณ -0.05 ถึง 0.05%) แต่ภาพรวมทั้งไตรมาส 2 คาดว่าจะเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวก และไตรมาส 3 ก็คงอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ที่ราว 0.5-0.6%" นายพูนพงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับอยู่ในระดับต่ำได้ ได้แก่ 1. ฐานราคาเนื้อสุกรที่สูงในไตรมาส 2/66 ซึ่งแม้ไตรมาส 2 ปีนี้ สินค้าดังกล่าวจะมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น แต่ก็ยังสูงเพิ่มขึ้นได้ช้า เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตสุกรเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก 2. เศรษฐกิจยังขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมเมื่อช่วงต้นปี และ 3. การแข่งขันที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมทั้งการเติบโตของการค้าอีคอมเมิร์ซ ทำให้มีการใช้นโยบายส่งเสริมการขาย โดยเฉพาะการปรับลดราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2567 ใหม่ มาอยู่ที่ 0.0-1.0% หรือค่ากลางที่ 0.5% จากเดิม -0.3 ถึง 1.7% ค่ากลางที่ 0.7% ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่อีกครั้ง