คลัง ยันขาดดุลงบเพิ่ม 1.5 แสนล้าน ไม่กระทบเครดิตเรทติ้งประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 5, 2024 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับปรุงกรอบการคลังระยะปานกลาง (2567-2571) โดยให้ขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 เพิ่มขึ้นอีก 1.52 แสนล้านบาท จากเดิมที่มีการขาดดุล 7.13 แสนล้านบาท รวมเป็นการขาดดุลงบประมาณ ที่ 8.65 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่มีปัญหา เนื่องจากปัจจุบันฐานะการคลังของประเทศอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยมีทุนสำรองระหว่างประเทศ สูงถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เงินคงคลังอยู่ในระดับสูงที่ 5-6 แสนล้านบาท ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้

"ขาดดุลเพิ่ม 1.5 แสนล้านบาท ไม่มีปัญหา ปัญหาอยู่ตรงไหน วันนี้ฐานะประเทศเข้มแข็งมาก ไม่น่าเป็นห่วง ส่วนหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2568 ที่ประเมินว่าจะปรับขึ้นไปที่ระดับ 66.93% ต่อจีดีพี ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี และเมื่อมีการบริหารจัดการหนี้สาธารณะก็จะมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง" นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า ขณะนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้ให้นโยบายชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการปรับลดรายจ่ายประจำในส่วนที่ไม่จำเป็น ขณะเดียวกันที่ต้องทำควบคู่ คือ การปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังพิจารณาอยู่ แต่การจะปรับเพิ่มภาษีตัวใด ก็ต้องดูภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยหลาย ๆ เรื่องประกอบ และต้องขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เหมาะสม

"การปฏิรูปโครงสร้างภาษี ทุกรัฐบาลมีความตั้งใจ แต่ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ต้องค่อย ๆ ดำเนินการ ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและระยะเวลา" รมช.คลัง ระบุ

อย่างไรก็ดี หากดูตามประมาณการในเอกสารงบประมาณ พบว่าแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ยังอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้ หากต้องมีการเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น ก็เชื่อว่าในอนาคตจะสามารถดำเนินการได้

ส่วนการอุดหนุนราคาน้ำมันนั้น รมช.คลัง กล่าวว่า ขอให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดูแลไปก่อน เพราะว่าตอนนี้ต้องให้ความสำคัญเรื่องของรายได้ อยากให้การจัดเก็บรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามเอกสารงบประมาณ

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เชื่อว่าการเพิ่มการขาดดุลอีก 1.5 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2568 นั้น จะไม่ส่งผลกระทบกับการประเมินเครดิตเรตติ้งของประเทศไทย โดยมองว่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ คงจะพิจารณาวัตถุประสงค์ว่ารัฐบาลนำเงินที่ได้จากการขาดดุลเพิ่มไปใช้เพื่ออะไร และให้เกิดประโยชน์อย่างไร อีกทั้งคงดูแผนการใช้คืนจากรัฐบาลว่ามีความชัดเจนหรือไม่ หากรัฐบาลมีคำตอบที่ดีกับเรื่องนี้ ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบอย่างแน่นอน

พร้อมเห็นว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ 2% ในปีนี้ยังต่ำเกินไป โดยต้องยอมรับว่า การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อเป็นเรื่องจำเป็น เพราะทุกคนสัมผัสได้แล้วว่าเศรษฐกิจไม่ดีอย่างไร ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ากระทรวงการคลังควรเร่งดูแลเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าการเร่งกระตุ้นระยะสั้นนั้น มองว่า เรื่องระยะยาวเป็นเรื่องโครงสร้าง ไม่ใช่ว่ากระทรวงการคลังไม่ได้ทำ แต่การดูแลเรื่องระยะสั้น ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนก่อน อาจจะมีความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการก่อนหรือไม่

"การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ คงดูแค่ระยะสั้น หรือระยะยาวอย่างเดียวไม่ได้ ภาพเศรษฐกิจเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่มีการประเมินเป็นแบบหนึ่ง แต่วันนี้ผ่านมา 3 เดือน ต้องยอมรับว่าภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนไปเยอะ ต้องเอาข้อเท็จจริงมาดูกันว่าอะไรที่จำเป็น อะไรที่ควรทำก่อน การบริหารเศรษฐกิจระยะยาวไม่ผิด แต่การดูแลระยะสั้นก็ควรทำ" นายลวรณ กล่าว

สำหรับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันนั้น นายลวรณ มองว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ การส่งสัญญาณที่ถูกต้องให้กับสังคม เช่นขณะนี้เหตุผลที่ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องอธิบายให้ได้ว่าเพราะอะไร ทำไมถึงไม่ปรับลดลง

"มุมของกระทรวงการคลัง อาจจะมองอีกแบบ ว่าอัตราดอกเบี้ยในวันนี้สูงเกินจริงไปหรือไม่ เพราะหากมีการปรับลดลงมา ก็ไม่ได้มีผลในทันที เนื่องจากต้องมีระยะเวลาที่ส่งผ่าน ก่อนจะเห็นผล แต่การส่งสัญญาณที่ถูกต้องว่าวันนี้ระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างไร และควรส่งสัญญาณว่านโยบายการเงินการคลัง มีการทำงานที่สอดประสานกันนั้น เชื่อว่าจะเป็นการสื่อสารที่ดีที่สุด" ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ