Krungthai COMPASS ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2567 ที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ จะหนุนให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ลง 2 ครั้งติดต่อกัน สู่ระดับ 2.00% แม้อัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า จะมีแนวโน้มกลับมาเป็นบวกในไตรมาสที่ 2 แต่คาดว่าทั้งปีเงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ต่ำกว่า 1%
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงกดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวสูง ยังมีน้อย ทำให้ประเมินว่า กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 10 เม.ย. 67 และวันที่ 12 มิ.ย. 67 เพื่อประคองเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าระดับศักยภาพในอดีตที่ 3%
โดยวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือน มี.ค. อยู่ที่ -0.47%YoY จากราคาอาหารสดหดตัวตามราคาเนื้อสุกรที่ปรับลดลง และราคาพลังงานซึ่งหดตัวตามราคาน้ำมันดีเซล และค่ากระแสไฟฟ้าที่อยู่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เพิ่มขึ้น 0.37%YoY
ส่งผลให้ช่วงไตรมาส 1/2567 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยอยู่ที่ -0.79% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย อยู่ที่ 0.44%
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ของไทยในปี 2567 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8% โดยมองว่าเงินเฟ้อทั่วไป อาจพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในเดือนพ.ค. 67 เป็นต้นไป หากภาครัฐทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศ โดยปัจจุบัน ค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 67 อยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย และมีแนวโน้มจะถูกตรึงไว้ในระดับเดิมในงวดต่อไป
ขณะที่การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร และราคาก๊าซหุงต้มที่ 423 บาท/ถังขนาด 15 กก. ได้สิ้นสุดแล้วเมื่อสิ้นเดือน มี.ค. 67 แต่ทางภาครัฐได้พยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ต่อไปในช่วงสงกรานต์
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น ภาระต้นทุนพลังงาน และภาระหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กองทุนฯ) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งผลให้ภาครัฐอาจจำเป็นต้องทยอยปรับราคาพลังงานในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น อาจส่งผลให้เงินเฟ้อไทย กลับมาเป็นบวกได้ในช่วงเดือน พ.ค.67 เป็นต้นไป หลังเผชิญการติดลบมานาน 6 เดือน