กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินการเคลื่อนไหวของเงินบาทก่อนเทศกาลสงกรานต์มีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 36.30-37.00 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 36.67 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 36.33-36.84 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดรอบ 6 เดือน ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโรแต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เน้นย้ำว่าเฟดจะพิจารณาอย่างระมัดระวังเรื่องการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรก
อย่างไรก็ดี ประธานเฟดมองว่าตัวเลขเศรษฐกิจในระยะนี้ไม่ได้ทำให้สถานการณ์โดยรวมเปลี่ยนแปลงไปมากนัก โดยในภาพใหญ่อัตราเงินเฟ้อกำลังชะลอตัวลงเข้าใกล้ระดับ 2% แม้จะเผชิญกับอุปสรรคบ้าง และเฟดจะตัดสินใจด้านนโยบายในการประชุมแต่ละครั้งไป นอกจากนี้ ตลาดจับตาดูว่าทางการญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงเพื่อพยุงค่าเงินเยนหรือไม่ ขณะที่เงินเยนย่ำฐานอยู่ใกล้ระดับอ่อนค่าสุดรอบ 34 ปี ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทย 1,846 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตรสุทธิ 9,550 ล้านบาท
ภาพรวมในสัปดาห์นี้ ตลาดจะติดตามข้อมูลเงินเฟ้อเดือนมีนาคมของสหรัฐฯ เพื่อประเมินจังหวะการเริ่มลดดอกเบี้ยของเฟดต่อไป หลังตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯแข็งแกร่งเกินคาด อย่างไรก็ตาม อุปทานแรงงานบางส่วนเพิ่มขึ้นจากการย้ายถิ่นฐาน ซึ่งช่วยลดความร้อนแรงของค่าจ้างได้บ้าง ทำให้เฟดอาจจะยังยึดมั่นในแผนการลดดอกเบี้ยสามครั้งในปีนี้ แต่หากเงินเฟ้อพื้นฐานออกมาสูงเกินคาดตลาดจะทบทวนมุมมองอีกครั้งและเงินดอลลาร์จะได้แรงหนุนต่อเนื่อง นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 4.00% ในการประชุมวันที่ 11 เม.ย. และส่งสัญญาณว่าจะลดดอกเบี้ยเดือน มิ.ย.
ขณะที่ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% ในการประชุมวันพรุ่งนี้ (10 เม.ย.) เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจหลังภาครัฐเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท โดยเรามองว่ากนง.จะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. ทางด้านดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน มี.ค.ลดลง 0.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นเดือนที่ 11 ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมอาหารสดและพลังงานเพิ่มขึ้น 0.37% กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาส 2/67 มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มขึ้นและเงินบาทอ่อนค่ากว่าไตรมาสแรก