ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนมี.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 63 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือนส.ค. 66 เป็นต้นมา
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 56.9 59.8 และ 72.2 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนทุกรายการเช่นกัน เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนก.พ. ที่อยู่ในระดับ 57.7 60.4 และ 73.2 ตามลำดับ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนมี.ค. ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือนส.ค. 66 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมากังวลว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ดี การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าค่าครองชีพสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กับอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
"ดัชนีเดือนมี.ค. ปรับตัวเล็กลงเล็กน้อยจากก.พ. และลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน แสดงว่าเศรษฐกิจที่หลายคนคาดหวังว่าจะโต และฟื้นตัวดีขึ้น แต่บรรยากาศมีการแผ่วแรงในเดือนมี.ค. อาจมาจาก 2 สาเหตุสำคัญ คือ 1.สถานการณ์ราคาพลังงานเริ่มสูง โดยเฉพาะเบนซิน ค่าครองชีพสูง และ 2. เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว ไม่คึกคัก จากพืชผลทางการเกษตรที่ออกสู่มือเกษตรกรไม่มาก ผลผลิตทางการเกษตรยังติดลบจากปัญหาภัยแล้ง ดังนั้น ราคาพืชผลเกษตรสูง แต่รายได้เกษตรกรยังติดลบ ทั้ง 2 ปัจจัยเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้บรรยากาศของเศรษฐกิจทุกภูมิภาคไม่คึกคัก" นายธนวรรธน์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งปัจจัย คือการที่งบประมาณแผ่นดินยังไม่ถูกใช้ ซึ่งรัฐบาลเริ่มมีสัญญาณที่จะเร่งรัดเบิกจ่ายงบปี 67 ใช้ในเดือนเม.ย. 67 ดังนั้น สัญญาณที่เกิดขึ้นในเดือนมี.ค. จึงเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 1/67 ดูแผ่วลง คาดโต 1.5-2.0%
ทั้งนี้ เชื่อว่า ถ้างบประมาณแผ่นดินเริ่มเคลื่อน ความเชื่อมั่นผู้บริโภคน่าจะค่อยๆ กลับมา โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง จับตามาตรการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งอสังหาริมทรัพย์ และดิจิทัลวอลเล็ต นอกจากนี้ ต้องติดตามสัญญาณของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และต้องจับตาว่าครึ่งปีหลัง ธปท. จะมีสัญญาณลดดอกเบี้ยหรือไม่ เพราะสัญญาณของเศรษฐกิจเมื่อมีเงินเฟ้อทรงตัวต่ำ และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลดดอกเบี้ย ซึ่งสัญญาณเหล่านี้จะเปลี่ยนมุมมองของธปท. หรือไม่
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มองว่า สัดส่วนของเงินมีความสำคัญ เนื่องจากถ้าใช้งบปี 67 มาก และใช้เร็ว เศรษฐกิจจะถูกกระตุ้นมากกว่าถ้าใช้งบปี 67 จำนวนน้อย และใช้ช้า เช่น ถ้าใช้งบประมาณตั้งแต่ มิ.ย.-ก.ค. 67 เศรษฐกิจจะถูกกระตุ้นเร็วและแรง แต่ถ้าใช้เดือนก.ย. 67 เศรษฐกิจจะถูกกระตุ้นประมาณ 4 เดือน ซึ่งมีผลต่อระบบเศรษฐกิจน้อยกว่า ซึ่งหากใช้งบประมาณปี 68 เศรษฐกิจจะถูกกระตุ้นเพียง 3 เดือนเท่านั้น
"เดิมเชื่อว่าดิจิทัลวอลเล็ตจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 1-1.5% ถ้าใช้ตั้งแต่พ.ค. 67 ตอนนี้เหลือใช้เพียงแค่ไตรมาสเดียว ในวงเงิน 5 แสนล้านบาท จากเดิมที่จะใช้ครึ่งปี ดังนั้น คาดจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.5% เศรษฐกิจไทยน่าจะคึกคักส่งท้ายปลายปี" นายธนวรรธน์ กล่าว
ส่วนผลกระทบจากสถานการณ์เมียนมา มองว่า ประเทศไทยจะมีผลกระทบต่อการขาดโอกาสทางการค้าผ่านชายแดน มูลค่าการท่องเที่ยวจะหดหายไป และการทำธุรกิจในระยะปานกลางและระยะสั้น