นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนมี.ค. 67 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25-29 มี.ค. 67 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 55.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 55.0 ในเดือนก.พ. 67
"ดัชนีในภาพรวมปรับตัวดีขึ้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.1-0.2 จุดต่อเนื่องมาหลายเดือน ผู้ประกอบการมองว่าสถานการณ์ยังทรงตัว อย่างไรก็ดี ในอนาคตยังมีสัญญาณว่าจะปรับตัวดีขึ้น" นายวชิร กล่าว
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 54.6
- ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 54.9
- ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 57.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 57.6
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 53.7
- ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 55.2
- ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 54.1
ปัจจัยบวก ได้แก่
1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมันดีเซล ตลอดจนยกเว้นการยื่นวีซ่านักท่องเที่ยว (จีน คาซัคสถาน อินเดียและไต้หวัน)
2. นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้นหลังจากการเปิดประเทศ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น
3. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัว ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
4. ภาคท่องเที่ยวและบริการภายในประเทศเริ่มดีขึ้น ผลมาจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่
5. การส่งออกของไทยเดือน ก.พ. 67 ขยายตัว 3.62% มูลค่าอยู่ที่ 23,384.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.61% มีมูลค่าอยู่ที่ 23,938.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 553.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
6. SET Index เดือน มี.ค. 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.27 จุด จาก 1,370.67 ณ สิ้นเดือน ก.พ. 67 เป็น 1,377.94 ณ สิ้นเดือน มี.ค. 67
7. ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศยังคงอยู่ในระดับทรงตัว โดยอยู่ที่ระดับ 29.94 บาทต่อลิตร ณ สิ้นเดือน ม.ค. 67
8. ความหวังของประชาชนจากการมีสัญญาณของการขึ้นค่าจ้างงาน และเริ่มจะมีในการจับจ่ายใช้สอยที่กลับมามากขึ้น แต่ยังคงมีการระวังการเลือกซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น
ปัจจัยลบ ได้แก่
1. ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ ทั้งสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับขบวนการฮามาส (Hamas) สถานการณ์ความขัดแย้งบริเวณทะเลแดง รวมถึงบริเวณทะเลจีนใต้ที่เริ่มมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้น
2. ราคาน้ำมันและพลังงานโลกยังทรงตัวสูง และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง
3. สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมกลางแจ้งในบางพื้นที่ และกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
4. หนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังอยู่ในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ธุรกิจ SME และลูกหนี้ภาคเกษตร
5. ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย จากระดับ 35.865 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ก.พ. 67 เป็น 35.954 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 67 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
6. ความกังวลจากผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคเกษตร ซึ่งสภาวะเอลนีโญ ทำให้ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร
7. ความกังวลในเรื่องของต้นทุนทางการผลิต-การเกษตรของผู้ประกอบการที่อาจจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
8. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1 และ 0.7 บาท/ลิตร อยู่ที่ระดับ 37.68 และ 39.15 บาท/ลิตร ณ สิ้นเดือน มี.ค. 67
โดยมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้
- มาตรการจัดสรรการบริหารน้ำให้เหมาะสมต่อภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม
- แก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสุขภาพของประชาชนและการท่องเที่ยวในพื้นที่
- แนวทางเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตภาคเกษตร และการนำระบบเกษตรอัจฉริยะมาใช้
- การสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนต่างประเทศให้มีความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศ
- แนวทางการดูแลค่าแรงของประชาชนให้เหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน
- แนวทางการดูแลเรื่องสภาพคล่องของภาคธุรกิจ และต้นทุนทางด้านการเงิน