นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังเรียกร้องให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาปรับลดดอกเบี้ย เพราะสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมีความจำเป็นที่จะต้องปรับลดดอกเบี้ยลงได้แล้วนั้นว่า ก็เป็นมุมมองที่มีเหตุผล เช่นเดียวกับกรรมการกนง. 2 คน ที่มองว่ารอบนี้ควรจะลดดอกเบี้ย ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักของแต่ละคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เพราะมีทั้งปัจจัยระยะสั้น ปัจจัยระยะยาว รายเล็ก รายใหญ่ ต่างประเทศ ในประเทศ อยู่ที่ว่าเมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว มองออกมาอย่างไร
"การประชุม กนง.รอบนี้ กรรมการทุกคนมองภาพเศรษฐกิจคล้ายกัน เห็นพ้องต้องกันกับภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในประมาณการที่ออกมาวันนี้ สิ่งที่แตกต่างของ กรรมการ 2 คน คือ มองว่า การใช้เครื่องมือที่จะบรรเทาภาระหนี้ได้บ้างในระดับหนึ่ง เรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจที่อาจจะต่ำกว่าที่เคยเป็น ก็เป็นไปได้ว่าดอกเบี้ยที่ต่ำลงในระดับหนึ่ง ก็เหมาะสมกว่า นี่เป็นเรื่องการชั่งน้ำหนัก ไม่มีใครผิดถูก 100% โดยรวม รอบต่อไป กนง.ก็ต้องมาชั่งน้ำหนักกันอีกที ภายใต้ข้อมูลใหม่ ส่วนท่านนายกฯ ก็อาจจะชั่งน้ำหนักอีกแบบ" นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวว่า กนง. มองว่านโยบายการเงินการคลัง ควรต้องสอดประสานกัน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนมากในช่วงที่เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาจากวิกฤติโควิด ซึ่งมีการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ทั้งมาตรการการเงินร่วมกับมาตรการการคลังอย่างเต็มที่ แต่เมื่อสถานการณ์ปัญหาคลี่คลาย ทั้งนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง ก็เริ่มถอนคันเร่ง ดังนั้น การจะใช้ทั้งนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง ลงไปเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจปัจจุบันเหมือนในช่วงที่เกิดวิกฤติ คงไม่ใช่สถานการณ์ที่ควรจะเป็น "จุดยืนนโยบายของเรา เอื้อต่อการที่เศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างมีศักยภาพในระยะยาว ไม่ได้เป็นอัตราดอกเบี้ย หรือมีจุดยืนนโยบายการเงิน ที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การที่นโยบายภาคการคลังจะเข้ามาช่วยกระตุ้นด้วย ก็ถือว่าสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน แต่คิดว่า การที่ทั้งนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง จะต้องเข้ามาเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนเช่นที่ผ่านมาในช่วงโควิดนั้น คงไม่ใช่สถานการณ์แบบนั้นที่เศรษฐกิจต้องการ เพราะอัตราการเร่งตัวของเศรษฐกิจ ก็ไม่ได้น้อย" นายปิติ กล่าว
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น กนง.ได้รวมไว้ในการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจของปีนี้และปีหน้าแล้ว ซึ่งในส่วนของมาตรการด้านอสังหาฯ อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ไม่มากนัก ขณะที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะได้เริ่มใช้ปลายปีนี้นั้น เชื่อว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามากกว่า แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีผลมากนักต่อการกำหนดนโยบายของ กนง. ทั้งนี้ หากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐมีมากขึ้น จะมีผลต่อการตัดสินใจลดดอกเบี้ยของ กนง.อย่างไรนั้น นายปิติ ยอมรับว่า ไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิด ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในประเทศเศรษฐกิจหลัก ย่อมมีผลสำคัญต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายทั่วโลก แต่ในแง่ของเศรษฐกิจไทย ถือว่าความเปราะบางทางการเงินที่มีต่ออัตราแลกเปลี่ยนมีไม่มาก เพราะประสบการณ์จากช่วงวิกฤติทางการเงินที่ผ่านมา ทำให้ไทยสามารถดูแลความเปราะบางทางการเงินได้ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้ต่างประเทศ หนี้ระยะสั้น และยังมีสินทรัพย์ต่างประเทศในระดับสูง
เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวได้สูงขึ้นกว่าปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาหลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 67 ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ทั้งนี้ แม้จะมองว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้ที่ 2.6% จะไม่สูงนัก แต่หากพิจารณาแรงส่งเป็นเทียบเป็นรายไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) จะเห็นการเร่งตัวขึ้นของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในระดับสูง หรือโตเฉลี่ยขึ้นไตรมาสละ 1% ซึ่งเมื่อรวมทั้งปีจะเพิ่มขึ้น 4% "ถือว่าการขยายตัวทำได้ไม่เลว แม้ตัวเลขโดยรวมจะไม่ได้สูงมาก" นายปิติ กล่าว โดยแรงส่งเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังเป็นแรงส่งหลัก โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% ในปีนี้ นอกจากนี้ ยังมาจากภาคการท่องเที่ยว ที่ล่าสุดช่วงไตรมาสแรกมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้วเกือบ 10 ล้านคน ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อหัวก็เพิ่มขึ้นกว่าที่คาดไว้ โดย กนง.คาดว่าทั้งปีนี้ จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 35.5 ล้านคน สร้างรายได้ 1.4 ล้านล้านบาท และมาจากนักท่องเที่ยวจีนเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ภาคการส่งออก คาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้ 2% ซึ่งจะเป็นการทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากอุปสงค์ในต่างประเทศที่ค่อยๆ ฟื้นตัว อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยยังมีแรงกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้าง นายปิติ มองว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4/66 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 1/67 เรียกได้ว่าเป็นภาวะหลุมอากาศทางการคลัง เนื่องจากความล่าช้าของการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2567 จึงทำให้เม็ดเงินที่ควรจะลงสู่ระบบเศรษฐกิจหายไปค่อนข้างมากถึง 1.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 0.8% ของ GDP โดยเฉพาะเม็ดเงินจากการอุปโภคและการลงทุนภาครัฐที่ชะงักไปพอสมควร แต่จากการที่ กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 67 จะขยายตัวได้ 2.6% และ 3% ในปี 68 ก็เชื่อว่าเป็นการมองภาพที่สมดุลโดยคำนึงถึงทั้งปัจจัยจากด้านบวก และด้านลบแล้ว "ในแง่ upside เราก็มองว่าการเบิกจ่ายภาครัฐอาจจะทำได้ดีกว่าที่คาด และได้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาช่วยเสริม ขณะที่การท่องเที่ยวก็เริ่มฟื้นตัวได้ดี แต่ส่วนที่ downside ก็คงต้องดูถึงความสามารถในการนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบจะเต็มที่หรือไม่ รวมทั้งการส่งออกที่ยังมีปัญหาในเชิงโครงสร้าง" นายปิติ กล่าว นายปิติ ยังกล่าวด้วยว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องที่ กนง.ยังคงติดตามอยู่ตลอด โดยปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูงกว่า 90% ต่อ GDP ซึ่งกระบวนการสะสางหนี้หรือลดหนี้ถือเป็นกระบวนการที่พึงประสงค์ ทั้งนี้ กนง. ไม่ได้มองว่าอัตราดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องมือหลักในการแก้ปัญหาหนี้ที่อยู่ในระดับสูง แต่เป็นเพียงหนึ่งในพื้นฐานที่จะทำให้ปัญหาไม่แย่ลง เช่น มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นมากเกินไป "การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ดอกเบี้ยไม่ใช่เครื่องมือที่ดีที่สุด และไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ต้องอาศัยมาตรการเฉพาะ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ และต้องให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้เต็มศักยภาพด้วย" นายปิติ กล่าว