สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ไตรมาส 1/67 อยู่ที่ระดับ 81 เพิ่มขึ้นจากระดับ 77 ในไตรมาส 4/66 สูงสุดในรอบ 4 ปี แม้ยังอยู่ต่ำกว่าระดับปกติที่ระดับ 100
โดยไตรมาส 1/67 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 9.37 ล้านคน เพิ่มขึ้น 44% จากปีก่อน
ส่วนทั้งปีคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 34-36 ล้านคน สร้างรายได้ 2.5 ล้านล้านบาท และมีโอกาสจะเพิ่มขึ้นเป็น 3-3.5 ล้านล้านบาทได้ ขณะที่ไทยเที่ยวไทย คาดว่าจะมีมากกว่า 50 ล้านคน สร้างรายได้รวมประมาณ 6.5 แสนล้านบาท
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยว ไตรมาส 2/67 อยู่ที่ระดับ 83 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์
สำหรับอัตราการเข้าพักในธุรกิจที่พักแรม อยู่ที่ 60% น้อยกว่าไตรมาส 4/66 โดยภาคใต้ มีอัตราการเข้าพักสูงสุดที่ 72% รองลงมา คือ ภาคตะวันออก 64% โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการเข้าพักน้อยสุดที่ 51%
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธาน สทท. กล่าวว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวในขณะนี้ ยังโตไม่เต็มศักยภาพ นักท่องเที่ยวยังกระจุกตัวในเมืองใหญ่ ซึ่งปัจจัยความสำเร็จของการท่องเที่ยว ขึ้นกับยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลจะใช้ ทั้งในเชิงงบประมาณ และการสร้างความพร้อมของผู้ประกอบการ
"วันนี้เรามีความท้าทายเร่งด่วน 4 ข้อ คือ PM2.5, ทักษะคนท่องเที่ยว, ค่าตั๋วเครื่องบินแพง และ การแข่งขันในช่วง Green Season ไตรมาส 2-3 ที่หลายประเทศอัดแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างดุเดือด" ประธาน สทท. กล่าว
สำหรับมาตรการเรื่องการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินนักท่องเที่ยว 300 บาทนั้น สทท. เห็นด้วยกับการนำมาใช้กับนักท่องเที่ยวในขณะนี้ อย่างไรก็ดี ควรนำเงินที่เก็บมาพัฒนาการท่องเที่ยวต่อยอดไป เช่น ทำกองทุนพัฒนาการท่องเที่ยวไทย เป็นต้น
ส่วนกรณีที่ในผลการวิจัยระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 65% ต้องการให้โครงการ Digital Wallet สามารถใช้ได้กับการท่องเที่ยวด้วยนั้น สทท. จึงเสนอว่าอาจจะออกเป็นแคมเปญแบบ "เที่ยวคนละครึ่ง" 1 แสนล้านบาท ซึ่งหากทำได้ จะเพิ่มรายได้จากไทยเที่ยวไทยไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ทำให้เป้าหมายท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท เป็นไปได้มากขึ้น และสามารถกำหนดเป้าหมายให้กระจายรายได้ไปยังเมืองรองได้อีกด้วย
"การที่รัฐบาลอยากให้การท่องเที่ยวเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และดันรายได้ให้แตะ 3.5 ล้านล้านบาทนั้น สทท. จึงอยากให้รัฐบาลให้งบแก่ภาคท่องเที่ยวประมาณ 1 แสนล้านบาท จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อนำมาทำคูปองท่องเที่ยวคนละครึ่ง กระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง หรืออาจแบ่งโควตาให้ภาคท่องเที่ยว 20% จาก 10,000 บาท เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกนำใช้กับการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งในเรื่องนี้เตรียมเสนอรมว.ท่องเที่ยวและการกีฬา เร็วๆ นี้"
น.ส.ผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า สถานการณ์ทั่วไปและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวในไตรมาส 2/67 มีปัจจัยสนับสนุน คือ เทศกาลมหาสงกรานต์ 21 วัน, ประเทศไทยและจีนยกเว้นข้อกำหนดวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวของกันและกัน (Visa-Free), พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ได้รับอนุมัติ และอยู่ในช่วงการปิดภาคเรียนของสถานศึกษาในประเทศไทย
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยง โดยปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ การยกเลิกมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร, หนี้เสีย (NPL) มีสัญญาณเร่งตัว, หลังวิกฤตโควิด-19 ยุติลง เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในคนไทยมากขึ้น และปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในหลายพื้นที่
ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศ ได้แก่ เศรษฐกิจจีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืด, เศรษฐกิจโลกในปี 67 มีแนวโน้มเติบโตต่ำ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคต่างๆ ยังมีความเปราะบางและเสี่ยงสูง พร้อมปะทุได้ทุกเมื่อ
ด้านนายกิตติ พรศิวะกิจ ประธาน Smart Tourism สทท. กล่าวว่า เพื่อมุ่งเป้าสู่รายได้การท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท และต่อยอดนโยบาย Ignite Thailand สทท. มีข้อเสนอต่อรัฐบาล 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์ Ignite X ใช้ Tourism Hub เป็นแกนกลาง เชื่อมโยงอีก 7 เสาหลัก เพื่อเพิ่มมูลค่าและกระจายรายได้ เช่น T X H = Health Tourism ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กีฬาและผู้สูงวัย / T X A = AgroTourism ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชุมชน และอาหารท้องถิ่น / T x D = Digital Nomad
2. ยุทธศาสตร์ 4 สมดุล ดังนี้
- สมดุลเมืองหลัก-เมืองรอง กระจายรายได้สู่เมืองรอง โดยใช้ 3 แกน บริษัทนำเที่ยว อินฟลูเอนเซอร์ และแพลทฟอร์ม ใช้เมืองที่มีสนามบินนานาชาติเป็นเมืองหลัก ใช้รถบัส รถตู้ รถไฟ เครื่องบินโลคัล เป็นเครื่องมือกระจายนักท่องเที่ยว
- สมดุลเล็ก-ใหญ่ ต้องจัดสรรงบประมาณส่งเสริม SME ให้มีพลังกลับมาขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสำหรับ 40 ล้านคน ลด K Shape
- สมดุล Natural-Manmade+Event ลดการพึ่งพาธรรมชาติ สร้าง Manmade ในอุทยาน+Mega Event ในเมืองใหญ่+D MICE ในเมืองรอง
- สมดุล Quick Win-Sustainable Win ต้องปลูกป่าและทำฝนเทียมไปพร้อมกัน ต้องยกระดับเรื่อง Green ไปพร้อมกับ การ growth hacking ชี้เป้าพานักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่เป้าหมาย ในวัน weekday
3. ยุทธศาสตร์ 4 เติม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ Supply-side เพื่อเติมทุน เติมลูกค้า เติมความรู้ เติมนวัตกรรม
- เติมทุน 5,000 ล้านบาท เสริมสภาพคล่อง SME แบบเข้าถึงได้ อนาคตต่อยอดเป็นกองทุน Smart Tourism และธนาคารเพื่อการท่องเที่ยว
- เติมลูกค้าแบบมุ่งเป้า ตาม ชาติ วัย ความสนใจ เช่น Digital Wallet สำหรับการท่องเที่ยว / ข้าราชการเที่ยวไทย / เมืองเกษียณโลก / LGBTQ / Tourism For All / ท่องเที่ยวเชิงอาหาร / สายมู / VISA Asean / VISA มวยไทย / Friend of Thailand เช่น โรเจอร์ เฟดเดอร์เรอร์
- เติมความรู้ ยกระดับทักษะบุคลากรทางการท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ / ทำ workshop สร้างสินค้าและเส้นทางที่ตอบโจทย์ยุคใหม่
- เติมนวัตกรรม เช่น การใช้ Canva / Generative AI / Live / B2B / Web API / VR360 / Tiktok / Reels / Big Data
4. ยุทธศาสตร์ 4 สงคราม เร่งด่วน คือ
- แก้ปัญหา PM2.5 ทั้งการปราบปราม และใช้ภาคท่องเที่ยวส่งเสริมการใช้วัตถุดิบที่เหลือเช้ามาสร้างมูลค่าเพิ่ม
- Safety Trust ยกระดับความปลอดภัยทุกมิติ ก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ หลังเกิดเหตุ ทั้งด้านการป้องกันจากการตรวจสภาพรถ เรือ อาคาร, การฝึกอบรมบุคลากรเพื่อความปลอดภัย, มาตรฐาน Food Safety, การแจ้งเหตุผ่านเครือข่าย 5G, การรักษาพยาบาลได้ทุก ร.พ.
- Cyber - Fake Web Page ทัวร์ทิพย์ ปราบปรามเว็บหลอกลวง ให้โอนเงินค่าจองโรงแรม ค่าทัวร์ และสินค้าของฝาก
- Nominee - Fake Guide ปราบปรามขบวนการนอมินีและไกด์เถื่อนอย่างจริงจัง มีการให้รางวัลกับผู้แจ้งเหตุ และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด