ดีอี ลุยปราบภัยออนไลน์ กวาดล้างบัญชีม้า-ซิมม้า ขยายเวลาอายัดเงิน-สกัดใช้ช่องคริปโทฯโยกเงินผิดกม.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 19, 2024 17:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดีอี ลุยปราบภัยออนไลน์ กวาดล้างบัญชีม้า-ซิมม้า ขยายเวลาอายัดเงิน-สกัดใช้ช่องคริปโทฯโยกเงินผิดกม.

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แถลง ผลการประชุมการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดิจิทัลครั้งที่ 3/2567 ว่า ได้เพิ่มมาตรการปราบปราบอาชญากรรมออนไลน์ ด้วยการแก้ไขปัญหาบัญชีม้า โดยสมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงิน ได้เร่งตรวจสอบบัญชีธนาคาร ซึ่งมีการระงับบัญชีต้องสงสัยไปแล้ว 3-4 แสนบัญชี ปิดบัญชีม้าไปแล้ว 318,000 บัญชี AOC ปิดไปแล้ว 112,000 บัญชี

ส่วนบัญชีที่เปิดใหม่ ได้เพิ่มมาตรการดูแลการเปิดบัญชีป้องกันไม่ให้ทำผิดกฎหมาย โดยเพิ่มการตรวจสอบข้อเท็จจริงของลูกค้า โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมถึงการทำธุรกิจ ทุนหมุนเวียน จุดประสงค์การเปิดบัญชี

ดีอี ลุยปราบภัยออนไลน์ กวาดล้างบัญชีม้า-ซิมม้า ขยายเวลาอายัดเงิน-สกัดใช้ช่องคริปโทฯโยกเงินผิดกม.

ขณะที่มาตรการอายัดบัญชี เพิ่มระยะเวลาอายัดจาก 3 วันเป็น 7 วัน

สำหรับมาตรการแก้ปัญหาซิมม้า ได้กวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดยให้ผู้ถือครองซิมในปริมาณมากต้องมายืนยันตัวตนภายในวันที่ 14 ก.พ.67 ที่ผ่านมา โดยมีผู้มายืนยันตัวตนแล้ว 2.57 ล้านเลขหมาย และอยู่ระหว่างดำเนินการระงับ 2.5 ล้านเลขหมายโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ส่วนการเปิดซิมใหม่ได้เพิ่มมาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันการเปิดใช้ซิมที่ผิดปกติ และจัดทำฐานข้อมูลของผู้ส่ง SMS

ขณะที่การดำเนินการกับเสาสัญญาณและสายสัญญาณอินเทอร์เน็ตผิดกฎหมาย ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกระทรวงกลาโหมจัดทำแผนปฏิบัติการเรียบร้อยแล้วแต่ไม่ขอเปิดเผย

มาตรการแก้ไขปัญหาการซื้อขายคริปโทฯ ผิดกฎหมาย เนื่องจากพบว่ามีคนใช้ช่องทางในการซื้อขายคริปโทฯ ในการส่งเงินออกต่างประเทศถึง 70 -80% จึงให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดมาตรการดูแล ทั้งนี้เพราะได้พบว่าคนร้ายได้ใช้ช่องทางสินทรัพย์ดิจิทัลในการโอนเงินไปต่างประเทศ ก.ล.ต.และกระทรวงได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวด

การปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นในการชื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาต อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. โดยให้ทำ KYC อย่างเข้มข้นและให้รายงานปริมาณในการทำธุรกรรมให้ ก.ล.ต. ทราบ โดยให้ศูนย์ AOC รับข้อมูลและเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งหมด โดยนำ AI มาวิเคราะห์ข้อมูล

นอกจากนี้ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการจับกุม ปราบปราม ชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยที่มีพฤติกรรมผิดกฎหมายโดยเฉพาะการชักชวน หลอกลวงคนไทยเพื่อพาไปทำงานเป็นแก๊งค์คอลเซนเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ ให้ความสำคัญกับจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน

การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ มอบหมายให้ สตช. ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการปราบปราบแก๊งค์คอลเซนเตอร์ และอาชญากรรมออนไลน์ โดยมีเป้าหมายชัดเจน และบูรณาการแผนฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการสืบสวน สอบสวน และขยายผลการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่ร่วมการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์

ส่วนการดำเนินงานด้านระหว่างประเทศ ได้มอบหมายให้กระทรวงดีอี สตช. บูรณาการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ในเชิงรุก รวมทั้ง มอบหมายให้ สตช. และ ตม. เคร่งครัดการตรวจสอบบุคคลเข้า-ออก และการเข้า-ออกผ่านช่องทางธรรมชาติ เพื่อลดปัญหาการเดินทางไปทำงานเป็นแก๊งค์คอลเซนเตอร์ รวมถึงการขนเงินออกนอกประเทศ ซึ่ง กต. ให้การสนับสนุนการประสานงานในการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ในประเด็นการแก้ไขปัญหาแก๊งค์คอลเซนเตอร์ เว็บพนันออนไลน์ รวมถึงประเด็นปัญหาอาชญกรรมออนไลน์อื่นๆ รวมทั้ง ขอความร่วมมืออธิบดีกรมการปกครองสำรวจคนต่างด้าวที่พำนักอาศัยในประเทศสักระยะหนึ่ง ให้แจ้งข้อมูลส่งให้ศูนย์ AOC1441 เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมที่ผิดสังเกตคนต่างด้าวที่เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์

นอกจากนี้ การแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาภัยออนไลน์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

1) ให้ สคบ. พิจารณาแก้ไขกฎหมาย หรือกฎระเบียบ ที่เกี่ยวกับการบริการเก็บเงินปลายทางสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (COD) เพื่อขจัดปัญหาการหลอกขายสินค้าออนไลน์ ภายในเดือนพฤษภาคม นี้

2) ก.ล.ต. ศึกษาระเบียบการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ประกอบธุรกิจ P2P และประกาศใช้ เพื่อตัดช่องทางการโอนเงินไปเป็นสกุลเงินดิจิทัลออกจากบัญชีม้า

3) สำนักงาน กสทช. กำหนดกฎระเบียบเกี่ยวกับการใช้บริการข้อความสั้น (SMS) ในการส่งข้อความหรือส่งลิงก์หลอกลวง

4) คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย พิจารณาแก้ไขปัญหาการคืนเงินให้แก่ผู้เสียหาย

5) สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล

ทั้งนี้ ดีอี ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) หารือแนวทางการจัดตั้งห้องปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับ AOC (AOC Data Lab) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ตรวจสอบข้อมูลเพื่อใช้กำหนดนโยบายการแก้ไข และป้องกันอาชญากรรมออนไลน์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ