กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.65-37.25 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 36.85 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 36.72-36.90 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 6 เดือน สอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ขณะที่ผู้ร่วมตลาดหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยง
ด้านเงินดอลลาร์อ่อนค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับยูโรในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ดัชนีดอลลาร์เดินหน้าแตะจุดสูงสุดในรอบ 5 เดือนครึ่งในช่วงแรก ขณะที่ตลาดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งเกินคาด อีกทั้งประธานเฟดสาขานิวยอร์ค ระบุว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดดอกเบี้ยลงในเวลานี้ ทางด้านค่าเงินเยน ลดช่วงลบได้บ้าง หลังจากทางการญี่ปุ่นกล่าวว่าผู้นำทางการเงินของ 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (G-7) ยืนยันจุดยืนของญี่ปุ่นที่ว่าความผันผวนที่มากเกินไปของอัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา
นอกจากนี้ สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง กดดันราคาสินทรัพย์เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และหนุนเงินฟรังก์สวิสขึ้นท้ายสัปดาห์ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 10,504 ล้านบาท และ 3,743 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับเงินเฟ้อ PCE เดือนมี.ค.ของสหรัฐฯ ขณะที่ตลาดปรับมุมมองอีกครั้งว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจเลื่อนการลดดอกเบี้ยออกไป และเฟดอาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 2 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะคงดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 25-26 เม.ย.
อนึ่ง ในภาพรวมเราประเมินว่าภาวะดอกเบี้ยสูงยาวนานของสหรัฐฯจะยังคงหนุนค่าเงินดอลลาร์ต่อไปในระยะนี้จนกว่าตลาดจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นว่าเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯชะลอตัวลง ส่วนความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ จะยังเป็นประเด็นเพิ่มความเปราะบางต่ออารมณ์ตลาดการเงิน
สำหรับปัจจัยในประเทศ ตลาดจะติดตามข้อมูลส่งออกนำเข้าเดือนมี.ค. ทางด้านกระทรวงการคลัง คาดว่าจะเสนอรายละเอียดโครงการ Digital Wallet ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในเดือนเม.ย.นี้ ขณะที่ทางการมองว่าเงินบาทที่อ่อนค่า เป็นผลจากสถานการณ์ความขัดแย้งในต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ เราคาดว่าสินทรัพย์สกุลเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันต่อเนื่อง จากแรงส่งเชิงบวกของค่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลก ท่ามกลางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯที่อยู่ในระดับสูง