รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงวันที่ 22 เม.ย.67 เพื่อเสนอเป็นความเห็นประกอบการพิจารณาโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่ผ่านความเห็นชอบหลักการจาก ครม.เมื่อวานนี้ โดยมีเนื้อหาความเห็นบางส่วนเสนอแนะให้ใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิผลคุ้มค่า และใช้งบประมาณลดลง
ผู้ว่าการ ธปท.เห็นว่ารัฐบาลโดยควรแจกเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 15 ล้านคน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งจะใช้งบเพียง 1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากคนกลุ่มรายได้น้อยมีสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสูงกว่ากลุ่มรายได้อื่น และมักซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า และควรพิจารณาดำเนินโครงการแบบแบ่งเป็นระยะ เพื่อลดผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลัง
พร้อมกันนี้ รัฐบาลควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณ 5 แสนล้านบาท ไปใช้ลงทุนในโครงการที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 1.9 แสนล้านบาทต่อสาย จะพัฒนาได้กว่า 2 สาย
ขณะที่นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า งโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ที่จะใช้สภาพคล่องธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กว่า 1.7 แสนล้านบาทว่า ในเรื่องนี้ ธปท.แค่กำกับดูแล ธ.ก.ส. แต่ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจว่าควรทำหรือไม่ควรทำ โดยต้องรอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าสามารถใช้มาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง กับโครงการนี้ได้หรือไม่ และคณะกรรมการ ธ.ก.ส.ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไรต่อไป
"ธปท.ไม่ขัดข้อง กับการที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องรูปแบบ รายละเอียดว่าอยากให้ช่วยแบบเจาะจง ช่วยคนที่มีความยากลำบากจริง เพื่อให้คุ้มค่าเม็ดเงิน ถ้าช่วยคนที่ขาดจะมีแรงกระตุ้นสูง อยากให้เป็นกลุ่มเป้าหมายเจาะจง เพื่อให้ยั่งยืน และคุ้มค่างบประมาณ ส่วนการใช้เงินธ.ก.ส. เรื่องนี้ ธปท.ไม่ได้มีข้อสังเกตอะไร" นายปิติ กล่าว