นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี เชิญผู้บริหาร 4 ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ มาหารือเพื่อขอให้พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ในขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายยังไม่ปรับลดว่า ในช่วงเย็นนี้ สมาคมธนาคารไทย จะได้มีการหารือกันเพื่อพิจารณาแนวทางเพื่อช่วยเหลือลูกค้าโดยเน้นในกลุ่มเปราะบาง ซึ่งหลายฝ่ายรวมทั้ง ธปท.เองก็มีความเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือกลุ่มนี้ก่อน ดังนั้นก็ต้องรอติดตามว่าสมาคมธนาคารไทย จะมีแนวทางหรือมีการออกมาตรการอะไรเพิ่มเติมในเรื่องการดูแลลูกค้ากลุ่มนี้
อย่างไรก็ดี ในส่วนของการพิจารณาเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ ในเรื่องนี้ทุกภาคส่วนเห็นความจำเป็น และสอดคล้องกับสิ่งที่ ธปท.ได้ดำเนินการตลอดที่ผ่านมา โดยเฉพาะการดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง เช่น ในช่วงโควิด-19 ให้การปรับลดดอกเบี้ย MRR เพื่อช่วยเหลือรายย่อยก่อน, มีมาตรการดูแลกลุ่มลูกหนี้ NPL และก่อนที่จะเป็น NPL ส่วนจะมีมาตรการอะไรมาเสริมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสมาคมฯ
"ธนาคารพาณิชย์ จะมีการปรับกระบวนการสินเชื่อ ก็เป็นกระบวนการของธนาคารเอง ตอนนี้มี input จากหลายภาคส่วนในการทำนโยบาย เช่น กระบวนการสินเชื่อ ราคา ซึ่งในเชิงนโยบายเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้แปลกประหลาดอะไร แต่ กนง. จะจับตาว่าภาวะการเงินมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ สิ่งที่ทำในปัจจุบัน เหมาะสมกับต้นทุน ความเสี่ยง ก็ต้องจับตาดูต่อไป" นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างมาก ข้อต่อสำคัญที่สุดในการส่งผ่านนโยบายการเงิน ก็คือธนาคารพาณิชย์ ซึ่ง ธปท. มองว่ากลไกการทำงานในเรื่องการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังเป็นไปตามปกติ แม้บางช่วงสภาพคล่องอาจจะตึงตัวบ้าง ซึ่งสะท้อนจากความเสี่ยง แต่ไม่ใช่การปิดประตูไม่ปล่อยกู้ เพราะกลไกสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ยังทำงานตามปกติ และปล่อยสินเชื่อได้ตามที่ควรจะเป็น
"ยอมรับว่าการเข้าถึงสินเชื่อของธุรกิจ SME ยังมีปัญหา เป็นความยากลำบาก แต่ไม่ใช่เรื่องดอกเบี้ย การลดดอกเบี้ย ไม่ได้ช่วยเรื่องการเข้าถึง แต่เป็นเรื่องของความเสี่ยง ความไม่รู้ ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน และไม่กล้าจะเสี่ยงกับคนที่ไม่รู้จัก ซึ่ง ธปท.มีข้อแนะนำอื่นๆ ที่จะแก้ในเชิงระบบ ให้มีการเข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น ให้กลไกสินเชื่อทำงานได้ดีขึ้น แต่อาจอยู่นอกเหนือนโยบายการเงิน ซึ่งภาครัฐ และ ธปท.ต้องมาดูในเชิงโครงสร้าง ดังนั้นในแง่การส่งผ่าน ก็ยังทำงานอยู่ในระดับที่เป็นมา" นายปิติ กล่าว
ด้านนายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า จากแบบจำลองที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง พบว่าจะสามารถลดภาระหนี้ในระยะสั้นลงได้ แต่จะส่งผลให้ในระยะยาวยอดหนี้คงค้างเพิ่มขึ้น จากภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น เพราะการลดดอกเบี้ยในช่วงแรก จะทำให้มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น การก่อหนี้ใหม่นำมาซึ่งภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในที่สุด ดังนั้นแม้การลดดอกเบี้ยจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่พบว่าในระยะยาวก็มีต้นทุนที่ต้องจ่าย
อย่างไรก็ดี มองว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน อยู่ในระดับที่เหมาะสม และสามารถรองรับความเสี่ยงต่างๆ ในระยะข้างหน้าได้ ทั้งความเสี่ยงด้านบวก และความเสี่ยงด้านลบ
"หากรอบหน้า (ประชุมกนง.เดือนมิ.ย.) เห็นความชัดเจนที่มากขึ้น จากข้อมูลเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ที่จะรายงานในเดือนหน้า (พ.ค.) ตัวเลขการส่งออก ตลอดจนการเบิกจ่ายภาครัฐ ข้อมูลที่มากขึ้นเหล่านี้ ก็จะช่วยการตัดสินใจได้มากขึ้น" นายสุรัช กล่าว