ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวเปิดโครงการ Ready for EUDR in Thailand ภายใต้แนวคิด RAOT พร้อมก้าวสู่มาตรฐานสากล ว่า กระทรวงฯ ให้ความสำคัญในการส่งเสริมเกษตรกรไทยก้าวสู่วิถีเกษตรยั่งยืน ด้วยการจัดการทรัพยากรการเกษตร ทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงฯ จึงผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและผู้ประกอบกิจการยางพาราไทยมีการจัดการข้อมูลยาง เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบ EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) ของสหภาพยุโรป (EU) และมาตรฐานระดับสากลต่างๆ
โดยกระทรวงฯ ได้ผลักดันโฉนดเพื่อการเกษตรในพื้นที่ สปก.ที่เป็นพื้นที่สวนยางกว่า 9.2 ล้านไร่ให้ชาวสวนยางมีสิทธ์ในพื้นที่ทำกินที่ถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมายของไทย และกฎระเบียบ EUDR พร้อมกับการออกโฉนดต้นไม้ยาง เพื่อรับรองการมีอยู่ของต้นยางพาราในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเป็นการขยายโอกาสแก่เกษตรกรให้เข้าถึงพื้นที่ทำกิน สามารถแปลงทรัพย์สินให้เป็นทุนสำหรับประกอบอาชีพการทำสวนยาง รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การทำคาร์บอนเครดิตในสวนยาง นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าผลผลิตยาง และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร บรรลุเป้าหมายทำเกษตรยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม
"การทำเกษตรโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม จะเป็นโอกาสให้เกษตรกรผู้ปลูกยางและผู้เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมอนุรักษ์ป่าไม้ของประเทศและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก สร้างความยั่งยืนให้ห่วงโซ่อุปทานยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เกิดการยกระดับพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมยางพาราของไทยให้มีความแข็งแกร่ง เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูง ควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรเกษตรให้ยั่งยืน" ร.อ.ธรรมนัส กล่าว
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า การ Kick Off ซื้อขายยางตรวจสอบย้อนกลับผลผลิตได้ โดยวิธีประมูลผ่านระบบดิจิทัล Thai Rubber Trade (TRT) เป็นแพลตฟอร์มของ กยท.สำหรับใช้ซื้อขายประมูลยาง แสดงถึงความพร้อมของยางพาราไทยด้านการจัดการระบบข้อมูลที่รองรับกฎระเบียบ EDUR ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยระบบ TRT จะแสดงรายละเอียดยางที่ซื้อขายอย่างชัดเจน เนื่องจากมีการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลผลผลิตยางของสมาชิกแต่ละรายอย่างเป็นระบบ จึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับที่มาของยางได้ทุกล๊อต พร้อมนำเทคโนโลยี Block chain มาใช้ในการทำธุรกรรมเพื่อเพิ่มความโปร่งใส แม่นยำ มีความน่าเชื่อถือในการตรวจสอบ
สำหรับการประเดิมซื้อขายยางที่ตรวจสอบย้อนกลับผลผลิตได้ในครั้งนี้มีเอกชนให้ความสนใจเข้าเสนอราคาประมูล โดยราคาประมูลวันนี้พุ่งสูงถึง 94.01 บาท/กก. รวมมูลค่ากว่า 41.2 ล้านบาท โดยยางที่ผู้ประกอบการเอกชนซื้อจะถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราจำหน่ายในตลาดโลกต่อไป ที่ผ่านมา กยท.ได้เตรียมความพร้อมรองรับกฎระเบียบ EUDR ไว้แล้ว โดยการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนเกษตรกรอย่างเป็นระบบ จึงสามารถระบุและแยกแยะพื้นที่สวนยาง รวมถึงทราบได้ว่าผลผลิตยางจากสถาบันเกษตรกรที่นำมาขายผ่านตลาดกลาง กยท. มาจากสวนยางของสมาชิกรายใดจึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ 100%
ในงานยังมีการร่วมลงนามแสดงเจตจำนงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนสินค้ายางพาราตามกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ของประเทศไทย ระหว่างภาครัฐ สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง แสดงให้เห็นว่าทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ Ready for EUDR in Thailand : RAOT พร้อมก้าวสู่มาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดการพัฒนาการจัดการระบบยางอย่างยั่งยืน เพิ่มมูลค่าและพัฒนาธุรกิจผลผลิตยาง ตลอดจนอุตสาหกรรมด้านยางพาราอย่างครบวงจร เป็นการปูรากฐานไทยก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านการผลิตและส่งออกยางพาราที่มีคุณภาพในระยะยาว
"การดำเนินมาตรการเชิงรุกที่มุ่งผลักดันระบบการจัดการข้อมูลยางพาราไทยภายใต้กฎระเบียบ EUDR และมาตรฐานสากลอื่นๆ ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมของโลก จะเกิดผลดีทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เกิดประโยชน์กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการยางพาราทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรชาวสวนยางไทย นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีตามนโยบาย" นายณกรณ์ กล่าว