"จุลพันธ์" นัดสัปดาห์หน้าประชุมอนุกก.ดิจิทัลวอลเล็ต ถกความคืบหน้ารายละเอียดโครงการ

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday April 28, 2024 09:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง คาดว่า ช่วงต้นสัปดาห์หน้า นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะนัดประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งในส่วนของร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ แหล่งเงินที่นำมาใช้ และระบบที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ ตลอดจนแนวทางป้องกันการทุจริตต่าง ๆ ว่ามีความคืบหน้าไปอย่างไร

โดยยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการป้องกันการทุจริตที่จะเกิดขึ้นในโครงการเป็นอย่างมาก จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบโดยเฉพาะ มีการประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีกระบวนการและขั้นตอนในการตรวจสอบอย่างชัดเจนทั้งหมด โดยหากพบการกระทำความผิด จะมีขั้นตอนและการดำเนินการอย่างรวดเร็ว

สำหรับการดำเนินการผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 1.72 แสนล้านบาท ด้วยมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 นั้น นายลวรณ ย้ำว่า ไม่ใช่การที่รัฐบาลไปกู้เงินจาก ธ.ก.ส. อย่างแน่นอน แต่เป็นเงินทดลองจ่ายไปก่อน และรัฐบาลจะตั้งงบมาชำระคืน ดังนั้นกติกาการใช้จ่ายของประชาชนและเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการก็จะเหมือนกันทั้งหมด อีกทั้งยืนยันว่าโครงการดังกล่าวไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา อย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลมีแหล่งเงินชัดเจนและมีเม็ดเงินครบทั้ง 5 แสนล้านบาทในการรองรับการดำเนินการอยู่แล้ว

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับเม็ดเงินของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในส่วนที่จะใช้จากการบริหารจัดการงบประมาณปี 2567 นั้น สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีโครงการของหน่วยงานใดบ้างที่อาจใช้ไม่ทัน หรือตั้งงบผูกพันไม่ทัน ก็จะดึงกลับมา ขณะเดียวกันก็ยังมีงบกลางปี 2567 อีกราว 9 หมื่นล้านบาท โดยต้องยอมรับว่างบประมาณปี 2567 ไม่ปกติ เพราะเริ่มบังคับใช้ล่าช้า และทำให้เหลือเวลาใช้อีกเพียง 5 เดือนเท่านั้น ซึ่งคาดว่าภายใน 1 เดือนครึ่ง จะเริ่มเห็นความชัดเจน และหลังจากนั้นก็จะมีการออก พ.ร.บ. โอนงบประมาณในส่วนนี้มาเพื่อรองรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

"อยากให้มองทุกอย่างด้วยความจริง อย่ามีอคติ เรื่องแหล่งเงินจากมาตรา 28 นั้น ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะทำ จึงยังไม่รู้ว่าท้ายที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร แต่เท่าที่หารือกับนักกฎหมายของกระทรวงการคลัง และจากสิ่งที่กระทรวงคลังเคยใช้มาตรา 28 มา ก็เห็นว่ามันเป็นไปได้ เพราะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ใช่โครงการแรกที่ใช้มาตรา 28 กับ ธ.ก.ส.เคยใช้มาแล้ว ทั้งโครงการประกันรายได้ โครงการประกันราคา โครงการจำนำข้าว โครงการโคแสนตัว หรือแม้แต่โครงการแจกไร่ละ 1 พันบาท แต่หากมีความไม่สบายใจ อยากได้คำตอบที่ชัดเจน ถึงเวลาก็ไปถามกฤษฎีกาได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็สั่งการเรื่องนี้ชัดเจนว่า หากอะไรที่เป็นประเด็นข้อกังวลหรือข้อสงสัย โดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย หากทำให้ชัดเจนก็ได้ก็ทำ แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา เพราะเรากำลังพูดถึงมาตรา 28 ของปีงบประมาณ 2568 ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ว่ามีเงินเท่าไร ยอดจะเห็นคือ 1 ต.ค.67 เมื่อเวลามาถึง ก็จะมีการตั้งเรื่อง นำเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. และเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขั้นตอนเหล่านี้เกิดขึ้นแน่นอน" นายลวรณ กล่าว

นายลวรณ ยังกล่าวถึงประเด็นข้อสงสัย เรื่องการจำกัดสิทธิร้านค้าแรกที่ไม่สามารถนำเงินสดออกมาได้ ว่า ในโครงการก่อน ๆ ที่ไม่ได้มีการล็อคสิทธิในส่วนนี้ ทำให้มีการทุจริตเกิดขึ้น โดยมีคนนำสิทธิวงเงินไปแลกเป็นเงินสดในจำนวนที่ลดลง ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลกำหนดให้การใช้จ่ายในรอบแรกนั้น ร้านค้ายังไม่สามารถขึ้นเป็นเงินสดได้ ซึ่งจะทำให้แรงจูงใจในการกระทำความผิดลดลงไป อีกประเด็นเป็นการการันตีตัวคูณทางเศรษฐกิจว่า โครงการจะมีตัวคูณทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่าย จำนวน 5 แสนล้านบาทในระบบเศรษฐกิจเกิดขึ้นแน่ ๆ 1 รอบ ส่วนรอบที่ 2 จะไปได้ไกลแค่ไหน ก็ต้องไปดูกันต่อ

ขณะที่ร้านค้าที่จะสามารถมาขึ้นเงินสดออกไปได้นั้น กำหนดให้เป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT), ภาษีนิติบุคคล หรือภาษีบุคคลธรรมดา ตามมาตรา 40(8) ของประมวลรัษฎากร ซึ่งในมุมของรัฐบาลเมื่อเม็ดเงินจำนวน 5 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบ รัฐบาลจะได้คืนมาในรูปของภาษีจากร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีนั่นเอง

ส่วนข้อเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เสนอให้ดำเนินการเฉพาะกลุ่มเปราะบาง 15-16 ล้านคนนั้น รัฐบาลเห็นด้วยและมองว่าประชาชนกลุ่มนี้จะต้องได้รับสิทธิด้วย แต่โจทย์ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ใช่การให้สวัสดิการจากรัฐ แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นคนละโจทย์กับเรื่องสวัสดิการที่หากจะทำก็สามารถทำได้ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่โครงการนี้ไม่ใช่สวัสดิการ

"รัฐบาลกำลังบอกว่าเราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ อิมแพคจึงขึ้นอยู่กับขนาดของเม็ดเงินที่ใส่ลงไปในระบบ เราคุยเรื่องนี้กันมาตั้งแต่ปลายปี จนถึงตอนนี้ผ่านมากว่า 5-6 เดือนแล้ว พัฒนาการทางเศรษฐกิจก็น่าจะเห็นกันอยู่ว่า ณ วันแรกอาจจะยังเห็นไม่ชัดว่าวิกฤติ หรือไม่วิกฤติ บางคนอาจจะมองว่าเศรษฐกิจยังดีอยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป จะเห็นแล้วว่าเศรษฐกิจมันทิ่มหัวลง เห็นได้ชัดเจนว่ากำลังซื้อหายไปจากระบบ การกระตุ้นก็มีหลายมาตรการ แต่โครงการนี้จะเกิดผลเร็วที่สุดผ่านการบริโภค

ดังนั้นตอนนี้คงไม่ใช่เวลามาเถียงกัน ว่าการบริโภคยังโตอยู่เท่านั้น เท่านี้ ไปทำเชิงโครงสร้างแทนดีกว่า ตรงนี้ก็ทำ ไม่ใช่เราไม่ทำ และรัฐบาลไม่ได้บอกว่าทำดิจิทัลวอลเล็ตโครงการเดียวแล้ว ประเทศจะเจริญรุ่งเรืองกลับมาเหมือนเดิม มันก็ต้องมีอย่างอื่นมาเสริมด้วย แต่มาตรการอื่นอาจจะต้องใช้เวลาในการเห็นผล ไม่เร็วเหมือนอันนี้ วันนี้อาจจะต้องบอกว่า เราต้องห้ามเลือดก่อน ต้องกลับมาแข็งแรงให้ได้ก่อน จึงจะมีเรื่องอื่นตามมา" ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ