สายช้อปออนไลน์สะเทือน! คลังจ่อเก็บ VAT สินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500 บ.คาดมีผล พ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 29, 2024 10:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สายช้อปออนไลน์สะเทือน! คลังจ่อเก็บ VAT สินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500 บ.คาดมีผล พ.ค.

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประมาณต้นเดือน พ.ค.นี้ จะมีความชัดเจนเรื่องการออกประกาศกรมศุลกากร เป็นกฎกระทรวง เกี่ยวกับแนวทางการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าราคาไม่เกิน 1,500 บาท (Low-Value Goods) ซึ่งจะส่งผลให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้งที่เป็นแพลตฟอร์มในประเทศ และแพลตฟอร์มต่างประเทศ รวมถึงบุคคลอื่นตามที่กฎหมายกำหนด มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% จากการขายสินค้าที่มีมูลค่าต่ำของผู้ขายในต่างประเทศให้แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย เพื่อนำส่งให้แก่กรมสรรพากรเป็นรายเดือน เช่นเดียวกันกับการขายสินค้าของผู้ขายในประเทศไทย โดยคาดว่าจะมีผลภายในเดือน พ.ค.นี้

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทั้งนี้ การออกกฎหมายดังกล่าวนี้ จะเป็นการดำเนินการระยะสั้น เพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษี VAT จากสินค้านำเข้าที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว หรือการแก้ไขอย่างถาวรนั้น กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการเร่งแก้ไขประมวลรัษฎากร ซึ่งในส่วนนี้ต้องใช้เวลา เพื่อให้การดำเนินการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

"กรมสรรพากร และกรมศุลกากร กำลังร่วมมือกันดำเนินการอยู่ คาดว่าภายในต้นพ.ค. น่าจะมีความชัดเจน การดำเนินการเรื่องนี้ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ การแก้ไขแบบถาวร คือ แก้ที่ประมวลรัษฎากร ตรงนี้ใช้เวลา ซึ่งกรมสรรพากรกำลังดำเนินการอยู่ โดยระหว่างที่ประมวลรัษฎากรยังแก้ไขไม่เสร็จ ก็จะมีโครงการเร่งด่วนระยะสั้น โดยกรมศุลกากรจะออกประกาศ เป็นกฎกระทรวงในการจัดเก็บภาษี VAT กับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท จากแต่ก่อนที่ไม่ต้องเสียภาษี ต่อไปก็จะต้องเสียภาษี คาดว่าจะมีผลภายในพ.ค.นี้" นายลวรณ กล่าว

พร้อมระบุว่า ในเบื้องต้น ทราบว่ากรมศุลกากรได้นำเสนอร่างประกาศดังกล่าวมาที่กระทรวงการคลังแล้ว ซึ่งหลักการคือจะเก็บภาษี VAT กับสินค้านำเข้าตั้งแต่บาทแรก ส่วนรายละเอียดและขั้นตอนการจัดเก็บ รวมถึงเป้าหมายการจัดเก็บรายได้หลังจากประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะอยู่ที่เท่าไร และมีรายละเอียดอย่างไรนั้น ต้องรอดูความชัดเจนทั้งหมดก่อน

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การดำเนินการในส่วนนี้ เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในการขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภค ระหว่างผู้ขายในต่างประเทศ ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กับผู้ขายในประเทศไทย ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นการสร้างความเป็นธรรม ทั้งในแง่ของการแข่งขันและการจัดเก็บภาษี เนื่องจากต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีสินค้าที่อยู่ในเกณฑ์ไม่ต้องเสียภาษีหลุดเข้ามาในประเทศจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สามารถจัดเก็บรายได้ได้มากพอสมควร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ