คลังหั่นคาดการณ์ GDP ปี 67 เหลือโต 2.4% หวังดิจิทัลวอลเล็ตดัน ศก.โตทะลุ 3%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 29, 2024 15:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คลังหั่นคาดการณ์ GDP ปี 67 เหลือโต 2.4% หวังดิจิทัลวอลเล็ตดัน ศก.โตทะลุ 3%

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 อยู่ที่ 2.4% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.9-2.9%) ลดลงจากประมาณการเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 2.8% เนื่องจากปัจจัยสำคัญ คือ การส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม นอกจากนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังหดตัว ซึ่งดูจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) โดยเฉพาะในหมวดยานยนต์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาคการเกษตร ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ที่มาจากสถานการณ์เอลนีโญ รวมถึงภาคการคลัง ที่ยังใช้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 66 ไปพลางก่อน จนถึงเกือบปลายเดือนเม.ย.67

คลังหั่นคาดการณ์ GDP ปี 67 เหลือโต 2.4% หวังดิจิทัลวอลเล็ตดัน ศก.โตทะลุ 3%

ทั้งนี้ การปรับประมาณการ GDP ในปี 67 ดังกล่าว มาจากสมมติฐานที่สำคัญ ดังนี้

1. เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ 15 ประเทศ คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 3.1%

2. อัตราแลกเปลี่ยน เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 36 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากปีก่อน 3.4%

3. ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยที่ 86 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน

4. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 35.7 ล้านคน คิดเป็นรายได้ราว 1.59 ล้านล้านบาท ค่าใช้จ่ายต่อหัว 44,600 บาท

5. รายจ่ายภาคสาธารณะ แบ่งเป็น งบประมาณรายจ่ายปี 67 ที่ 3.48 ล้านล้านบาท คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 3.21 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่าย 92.3% ส่วนงบประมาณรายจ่ายปี 68 ที่ 3.75 ล้านล้านบาท คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 3.54 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่าย 94.4%

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในช่วงต่อจากนี้ เม็ดเงินจากงบประมาณปี 2567 จะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเร่งขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของปี 2567

นายพรชัย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 67 จะได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ รวมถึงบทบาทสนับสนุนของนโยบายการคลังในช่วงที่เหลือของปี โดยคาดว่าปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในไทย 35.7 ล้านคน ขยายตัว 26.7% ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้ประชาชน ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ทำให้คาดว่าการลงทุนภาคเอกชน จะขยายตัว 3.7%

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน จะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.5% สำหรับการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ 2.3% โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวที่ 3.4% โดยมีสินค้าทุนขยายตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงการลงทุนภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศอยู่ในระดับมั่นคง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.6% ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าอาหารบางกลุ่ม อีกทั้งราคาสินค้าในหมวดพลังงาน ที่ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.8% ของ GDP

*หวังดิจิทัลวอลเล็ตดัน ศก.โตทะลุ 3%

อย่างไรก็ดี สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ที่คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ราวไตรมาส 4/67 นั้น หากสามารถดำเนินการได้ตามกรอบที่วางไว้ ก็คาดว่าจะมีผลต่อ GDP ปีนี้ให้เพิ่มขึ้นอีกราว 1.2-1.8% หรือเพิ่มขึ้นจากประมาณการ GDP เป็น 3-3.3% แต่ถ้าไม่มีโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ปีนี้เศรษฐกิจไทยก็จะอยู่ที่ 2.4%

"หากเม็ดเงินจากดิจิทัลวอลเล็ต เริ่มใช้ได้ในไตรมาส 4/67 ตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ ก็จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน และสนับสนุนให้ GDP ปี 67 โตได้มากกว่า 3% และมีโอกาสจะไปได้ถึง 3.3%...วงเงินเป้าหมายของโครงการดิจิทัล วอลเล็ต คือ 5 แสนล้านบาท และการใช้จ่ายมีระยะเวลา ไม่ได้จบแค่เดือน ธ.ค. 67 นั่นหมายความว่าประชาชนบางส่วน จะมีการใช้เม็ดเงินต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้า ซึ่งรัฐบาลได้ประมาณว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนี้ จะมีผลต่อเศรษฐกิจประมาณ 1.2-1.8% แต่ถ้าจับช่วงเวลาที่มีผลต่อเศรษฐกิจ คือ ในไตรมาส 4/67 ที่คาดว่าจะมีการใช้จ่าย 3.5 แสนล้านบาท ในส่วนนี้ ก็จะมีผลกับเศรษฐกิจในปีนี้ให้ขยายตัวได้ 3.3% ส่วนเม็ดเงินจะมีการหมุนไปอีกหลายรอบในระยะถัดไป" นายพรชัย กล่าว
สำหรับในระยะยาว การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน กระทรวงการคลังมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับ 1) ความยั่งยืนทางการคลัง (Fiscal Sustainability) มุ่งมั่นในการบริหารจัดการการคลังอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงการใช้จ่ายของรัฐและระดับหนี้สาธารณะอย่างรับผิดชอบ และ 2) การยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย (Potential GDP) มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศในระดับภูมิภาค และระดับหมู่บ้าน โดยต่อยอดจากวิสัยทัศน์ 8 ด้าน ภายใต้กรอบนโยบาย Ignite Thailand ของรัฐบาล

ทั้งนี้ ยังควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ

1. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ

2. ความผันผวนของตลาดการเงินโลก จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลัก และปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

3. การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศจีน จากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ