เงินเฟ้อเม.ย. 0.19% พลิกบวกครั้งแรกหลังติดลบ 6 เดือน สิ้นสุดลดภาษีดีเซล

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 3, 2024 11:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เงินเฟ้อเม.ย. 0.19% พลิกบวกครั้งแรกหลังติดลบ 6 เดือน สิ้นสุดลดภาษีดีเซล

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อ เดือนเม.ย.67 อยู่ที่ระดับ 108.16 หรือเพิ่มขึ้น 0.19% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งพลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรก หลังจากที่ติดลบต่อเนื่องมา 6 เดือน เนื่องจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตามสถานการณ์พลังงานในตลาดโลก ประกอบกับสิ้นสุดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ สินค้าอาหารสด เช่น ผัก ผลไม้ ยังมีราคาสูงขึ้น

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) ยังติดลบ 0.55%

ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือนเม.ย.67 อยู่ที่ระดับ 104.66 เพิ่มขึ้น 0.37% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ Core CPI เฉลี่ย 4 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.42%

พร้อมกันนี้ สนค.ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วง 8 เดือนที่เหลือของปีนี้ (พ.ค.-ธ.ค.) จะมีแนวโน้มเป็นบวกได้เช่นกัน โดยทั้งปี 67 ยังคงคาดการณ์ไว้ในระดับเดิมที่ 0-1% หรือค่ากลางที่ 0.50%

"เงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้น ตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก สินค้าเกษตรหลายรายการโดยเฉพาะผักสด-ผลไม้สด ออกสู่ตลาดลดลง และราคาสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด สำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ" นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อของไทยกับต่างประเทศ จะพบว่า ไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำเป็นอันดับ 5 จาก 137 ประเทศทั่วโลกที่มีการรายงานเงินเฟ้อ และอยู่ต่ำเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากบรูไน ขณะที่ลาว เป็นประเทศที่อัตราเงินเฟ้อสูงสุดในอาเซียน อยู่ที่ 24%

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ในเดือนเม.ย.67 มีสินค้าและบริการสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงราคาเมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.67 ดังนี้

  • ราคาสูงขึ้น 180 รายการ เช่น เนื้อสุกร, แตงกวา, ผักกาดขาว, ผักคะน้า, ต้นหอม-ผักชี, น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น
  • ราคาลดลง 80 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า, เนื้อวัว, ปลาทู, กระเทียม, น้ำยาปรับผ้านุ่ม และค่าผ่านทางพิเศษ เป็นต้น
  • ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 170 รายการ เช่น ค่าน้ำประปา, ค่าไฟฟ้า, ค่าโดยสารรถไฟฟ้า, ค่าที่จอดรถ เป็นต้น
* คาดเงินเฟ้อพ.ค. ขยายตัวราว 1.0-1.5%

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ค.67 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ราว 1.0-1.5% โดยมีสาเหตุสำคัญจาก

1) ฐานราคาค่ากระแสไฟฟ้าเดือนพ.ค.66 อยู่ในระดับต่ำ และเป็นระดับต่ำที่สุดของปี 66

2) ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น ทั้งไข่ไก่ เนื้อสุกร ผัก และผลไม้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด และขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่

3) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับมีการปรับลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ

4) ค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น

5) ผู้ประกอบการมีแรงกดดันจากต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง ทั้งอัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายค่ากระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

"เดือนพ.ค. คาดว่าเงินเฟ้อจะบวกที่ 1-1.5% โดย 8 เดือนที่เหลือของปีก็ยังคาดว่าเป็นบวกได้ เพราะราคาน้ำมัน รวมทั้งสินค้าเกษตร ยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ช่วง 8 เดือนหลังของปี 66 ฐานต่ำ ขณะที่คาดว่าเงินเฟ้อไตรมาส 2 จะบวกราว 0.8-1%" นายพูนพงษ์ ระบุ

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่อาจทำให้ราคาสินค้าและบริการบางชนิด ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่ 1) เศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำ และ 2) การแข่งขันที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมทั้งการเติบโตของการค้าอีคอมเมิร์ซ ทำให้มีการแข่งขันและใช้นโยบายส่งเสริมการค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะการปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง

*คงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 0.0-1.0%
"กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 67 อยู่ระหว่าง 0.0 - 1.0% (ค่ากลาง 0.5%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง ปกติแล้วเราทบทวนทุกไตรมาส เชื่อว่าเงินเฟ้อจะค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่คลังและแบงก์ชาติวางไว้ที่ 1-3% " ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ

สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ ตลอดจนการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีนี้นั้น นายพูนพงษ์ กล่าวว่า มาตรการทั้ง 2 เรื่องนี้ มีผลต่อเงินเฟ้ออย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้ สนค.กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาตัวเลขว่าทั้งการปรับขึ้นค่าแรง และการใช้จ่ายผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในสัดส่วนอย่างไร โดยจะชี้แจงรายละเอียดอีกครั้งในการแถลงเงินเฟ้อครั้งหน้า

"เรื่องค่าแรง 400 เรายังไม่ได้รวมไว้ในเป้าเงินเฟ้อปีนี้ แต่มอบหมายให้กองดัชนีฯ ไปดูว่าจะส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างไร รวมทั้งดิจิทัลวอลเล็ตด้วย เพราะ 2 ตัวนี้ ส่งผลต่อเงินเฟ้อแน่ๆ อยู่แล้ว แต่จะเป็นสัดส่วนเท่าใด กำลังดูอยู่ ขอเวลา เดือนหน้าจะมาตอบ แต่เราเชื่อว่าจะเป็นการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจขยายตัวได้ แต่ยังขยายตัวในอัตราที่ต่ำ ซึ่งถ้ามีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็น่าจะกระตุกเศรษฐกิจได้ เพราะเป็นการเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ" นายพูนพงษ์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ