นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เดือนพฤษภาคมของทุกปีจะเป็นช่วงเวลาที่มีนิติบุคคลนำส่งงบการเงินต่อกรมฯ เป็นจำนวนมาก และในปีนี้นิติบุคคลที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 835,011 ราย ต้องนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผ่านระบบ DBD e-Filing ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 โดยในการนำส่งงบการเงินผ่านระบบ DBD e-Filing นิติบุคคลต้องระบุชื่อของผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชีในแบบนำส่งงบการเงิน หรือ ส.บช.3 ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ห้ามมิให้แอบอ้างนำชื่อของผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชีอื่นที่ไม่ได้ปฏิบัติงานจริงใส่ในแบบ ส.บช.3 มิเช่นนั้นจะได้รับโทษทางกฎหมาย
ทั้งนี้ ผู้ทำบัญชีต้องแจ้งรายชื่อนิติบุคคลที่ตนรับทำบัญชีให้ในระบบ e-Accountant ภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มทำบัญชี ซึ่งผู้ทำบัญชี 1 คน สามารถจัดทำบัญชีให้นิติบุคคล ได้ไม่เกิน 100 รายต่อปี หากเกินกว่านั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย และเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีมีโทษตั้งแต่ตักเตือนจนถึงเพิกถอนการขึ้นทะเบียนหรือสมาชิก ซึ่งจะทำให้ผู้ทำบัญชีไม่สามารถปฏิบัติงานได้อีก สำหรับผู้สอบบัญชีจะต้องแจ้งรายชื่อนิติบุคคลที่ตนรับสอบบัญชีที่เว็บไซต์ของสภาวิชาชีพบัญชี และต้องมีสถานะ "คงอยู่" ด้วยเช่นเดียวกัน มิเช่นนั้นนิติบุคคลจะไม่สามารถนำส่งงบการเงินต่อกรมฯ ได้
สถานะของผู้ทำบัญชีที่ปรากฏในระบบ DBD e-Filing แบ่งออกเป็น 6 สถานะ ดังนี้
1) คงอยู่ หมายถึง สถานะปกติที่สามารถจัดทำบัญชีได้
2) ขาดคุณสมบัติ หมายถึง ขาดต่ออายุสมาชิกสภาฯในระบบ e-Accountant ให้ผู้ทำบัญชีตรวจสอบสถานะของการเป็นสมาชิกสภาฯ ในปีปัจจุบัน 2.1) กรณีต่ออายุสมาชิกสภาฯ แล้ว ให้ผู้ทำบัญชีเข้าใช้งานระบบ e-Accountant เพื่ออัพเดทสถานะของการเป็นสมาชิกสภาฯ 2.2) กรณียังไม่ได้ต่ออายุสมาชิกสภาฯ ให้ผู้ทำบัญชีรีบดำเนินการต่ออายุสมาชิกให้เรียบร้อย แล้วดำเนินการตาม 2.1) เมื่อกลับเข้าสู่ระบบ DBD e-Filing สถานะผู้ทำบัญชีจะแสดง "คงอยู่"
3) ยกเลิกการแจ้งเป็นผู้ทำบัญชี หมายถึง ผู้ทำบัญชีได้ยกเลิกการเป็นผู้ทำบัญชีกับกรมพัฒนาธุรกิจ-การค้าแล้ว
4) พักการขึ้นทะเบียน/สมาชิก หมายถึง ผู้ทำบัญชีอยู่ระหว่างถูกลงโทษพักการประกอบวิชาชีพทำบัญชีจากคณะกรรมการจรรยาบรรณ
5) เพิกถอนการขึ้นทะเบียน/ สมาชิก หมายถึง ผู้ทำบัญชีถูกลงโทษห้ามประกอบวิชาชีพทำบัญชีจากคณะกรรมการจรรยาบรรณ
และ 6) ถึงแก่กรรม ดังนั้น ก่อนนำส่งงบการเงินขอให้นิติบุคคล เช็คสถานะของผู้ทำบัญชีก่อนว่ามีสถานะคงอยู่หรือไม่ หากไม่ใช่สถานะดังกล่าวต้องแจ้งให้ผู้ทำบัญชีแก้ไขให้ถูกต้อง เพื่อให้งบการเงินมีความถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสีย คู่ค้า และผู้สนใจที่จะร่วมทุนกับธุรกิจของท่าน
สำหรับนิติบุคคลที่จัดทำงบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ หรือ TFRS for NPAEs ซึ่งผลใช้บังคับสำหรับงบการเงินที่มีรอบปีเริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2566 นั้น นิติบุคคลอาจได้รับผลกระทบทำให้งบการเงินไม่สามารถนำส่งผ่านระบบ DBD e-Filing ได้ เนื่องจากรายการหรือรูปแบบ ในงบการเงินแตกต่างจากประกาศกรมฯ เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ. 2554 กรมฯ ได้เพิ่มช่องทางในการนำส่งงบการเงินผ่านระบบ DBD e-Filing โดยให้อัพโหลดงบการเงินแบบ PDF แทนการกรอกข้อมูลในระบบ DBD e-Filing โดยกิจการที่สามารถส่งงบการเงินแบบ upload file ได้ โดยต้องเป็นไปตาม 5 เงื่อนไข
ดังนี้ 1) เลือกนำเสนองบการเงินของกลุ่มกิจการ โดยการจัดทำงบการเงินรวม หรืองบการเงินที่แสดงเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย 2) เลือกนำเสนองบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จแทนงบกำไรขาดทุน 3) เป็นธุรกิจที่มีกิจกรรมทางการเกษตร มีสัตว์หรือพืชที่มีชีวิตแสดงเป็นรายการสินทรัพย์ชีวภาพ ณ วันสิ้นรอบปีบัญชี 4) มีการรวมธุรกิจ แสดงเป็นรายการค่าความนิยม ณ วัน สิ้นรอบปีบัญชี และ 5) มีบางรายการที่นำเสนอตามประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมี ในงบการเงิน พ.ศ. 2566