สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก มั่นใจภาวะการส่งออกของไทยในปีนี้ยังสามารถขยายตัวได้ในระดับ 1-2% ถึงแม้สถานการณ์ส่งออกในเดือน มี.ค.67 จะหดตัวลดลงกว่า 10% ก็ตาม โดยเสนอให้มีทบทวนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาททั่วประเทศ เนื่องจากสร้างภาระให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น และสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
"ประเมินสถานการณ์ในไตรมาสแรกแล้ว ยังมั่นใจว่าจะผลักดันให้การส่งออกปีนี้ขยายตัวได้ 1-2% แต่ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่าสร้างแรงกดดันเพิ่ม" นายชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สรท.กล่าว
การส่งออกในเดือน มี.ค.67 ที่มีมูลค่า 24,960.6 ล้านดอลลาร์ ถือว่าไม่น้อย แต่หดตัว 10.9% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่สูงกว่า 28,000 ล้านดอลลาร์ โดยช่วงไตรมาสแรกเมื่อหักสินค้าทองคำและอาวุธออกแล้วยังขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.3% ขณะที่ภาวะการส่งออกของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซียหดตัว -5% หรืออินโดนีเซีย หดตัว -7% อย่างไรก็ตามจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งในช่วงกลางปี เนื่องจากยังมีสินค้าหลายตัวที่มีแนวโน้มในการส่งออกได้ดี
โดยมีปัจจัยเฝ้าระวังสำคัญ คือ
1.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การสู้รบระหว่างอิสราเอล-ฮามาสที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นในตะวันออกกลาง อาทิ อิหร่าน ส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม และกระทบต่อช่องแคบฮอร์มุสที่เป็นเส้นทางหลักของการขนส่งน้ำมันโลก
2.ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิต ประกอบด้วย
- ค่าแรงขั้นต่ำ ที่ปรับตัวเป็นวันละ 400 บาท
- ต้นทุนพลังงาน อาทิ น้ำมันและไฟฟ้า
- อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงทรงตัวระดับสูง กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ต่อปี
- ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นทุกเส้นทาง
3.ปัญหาภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร (ผลไม้ออกช้ากว่าฤดูกาลปกติ ยางพาราผลผลิตมีน้อยกว่าปกติ)
ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะให้สนับสนุนและช่วยเหลือให้ผู้ส่งออกทำประกันความเสี่ยงสำคัญ ได้แก่
1.ความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อรองรับความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงปลายปี
2) ความเสี่ยงการชำระเงินของคู่ค้า เพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและความสามารถในการชำระเงินของคู่ค้า
ประธาน สรท.กล่าวว่า การปรับค่าแรงนั้นต้องพิจารณาให้รอบด้านและกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายใต้กลไกคณะกรรมการค่าจ้าง โดยพิจารณาถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาพรวม เนื่องจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่สอดคล้องกับรูปแบบการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นและใช้ทักษะไม่สูง อาทิ อาหาร เกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งไทยต้องแข่งขันกับสินค้าต้นทุนต่ำจากจีนและเวียดนามที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าวทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก
นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงาน (Productivity) จะก่อให้เกิดปัญหาต่อภาคการผลิต ขณะที่การจัดสรรงบประมาณเพื่อยกระดับผลิตภาพแรงงานน้อยกว่า 1% สะท้อนผลิตภาพที่เปราะบาง และ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดจะกระทบอุตสาหกรรมเดิมหรืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และ SMEs ที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมชั้นสูงได้ในเวลาอันสั้น
"รัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบริหารจัดต้นทุนการผลิตเพื่อรักษาขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก" นายชัยชาญ กล่าว
โดย สรท.มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.ควรปรับค่าแรงและกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายใต้กลไกคณะกรรมการค่าจ้าง (คณะกรรมการไตรภาคี) ในแต่ละพื้นที่ โดยต้องคำนึงถึงค่าครองชีพที่แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่และผลิตภาพของแรงงาน (Productivity) และต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาพรวม
2.ขอให้พิจารณาปรับค่าแรงอย่างรอบคอบและปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
3.การปรับค่าแรงต้องสอดคล้องกับฝีมือแรงงาน โดยรัฐต้องสนับสนุนเรื่อง Total Productivity และ Innovation skill ของแรงงานไทยให้ชัดเจน
4.ควรตั้งกองทุนร่วมลงทุนกับบริษัทที่ต้องเสริมสภาพคล่องสำหรับจ้างแรงงานมีฝีมือมาปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้การแข่งขัน