BAY มองกรอบบาทสัปดาห์นี้ 36.50-37.00 หลังจ้างงานสหรัฐฯลดร้อนแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 7, 2024 13:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 36.50-37.00 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 36.80 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 36.75-37.10 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงดอกเบี้ยในช่วง 5.25-5.50% ตามคาด โดยเฟดให้ความเห็นว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอาจจะเกิดขึ้นล่าช้ากว่าที่ได้ประเมินไว้เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯลดลงช้า

อย่างไรก็ดี นักลงทุนขานรับประเด็นที่ว่าประธานเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะกลับมาปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในวัฎจักรนี้และยืนยันว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยลงในระยะถัดไปบนเงื่อนไขที่ว่าเฟดต้องการความเชื่อมั่นมากกว่านี้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในทิศทางขาลง ส่วนเงินเยนพุ่งขึ้นจากจุดต่ำสุดรอบ 34 ปี ขณะที่ข้อมูลบ่งชี้ว่าทางการญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดด้วยการซื้อเยนเป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย 2,170 ล้านบาท แต่มียอดซื้อพันธบัตรสุทธิ 7,145 ล้านบาท

ภาพรวมในสัปดาห์นี้ หลังการจ้างงานสหรัฐฯ ลดความร้อนแรงลงในเดือนเมษายน อีกทั้งมุมมองตลาดเรื่องการคงดอกเบี้ยสูงยาวนานของเฟดได้ถูกสะท้อนอยู่ในราคาพอสมควรแล้ว นอกจากนี้ เฟดเปิดเผยว่าจะชะลอการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening) ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป โดยเฟดจะปล่อยให้ขนาดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ ลดลง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน เทียบกับอัตรา 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในปัจจุบัน แต่เฟดจะยังคงปล่อยให้การถือครองหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (Mortgage-backed Securities) ลดลง 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนตามเดิม เรามองว่าบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่สดใสขึ้นอาจทำให้เงินดอลลาร์เผชิญแรงขายทำกำไรในระยะนี้

ส่วนปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดส่งออกเดือนมีนาคมลดลง 10.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวครั้งแรกรอบ 8 เดือน ทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/67 ยังเป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินไว้ ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 0.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ในภาพรวมเรามองว่าจังหวะเวลาการลดดอกเบี้ยครั้งแรกของกนง.มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ