หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากกว่า 50 สมาคม ร่วมแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยจะให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2567
เนื่องจากการที่รัฐบาลจะปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศซึ่งเกินกว่าพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยต้องยอมรับว่าแต่ละจังหวัด และแต่ละประเภทธุรกิจ มีความพร้อมของสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน
การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนการบริการ และต้นทุนการจ้างงานทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคการค้าและบริการ ภาคท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากผู้ประกอบการจะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน
ดังนั้นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยไม่คำนึงตามที่กฎหมายกำหนดจะส่งผลให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ หยุดกิจการ ลดขนาดกิจการ หรือปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษี จนนำไปสู่การปลดลูกจ้างและเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดต้นทุนให้อยู่รอด
อีกทั้งการปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง ยังเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย ทำให้เกิดความไม่มั่นใจถึงต้นทุนของการทำธุรกิจและนโยบายภาครัฐ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวน อาทิ ค่าเงินบาท ราคาพลังงาน มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และสงครามการค้าระหว่างประเทศต่างๆ เป็นต้น ซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและความน่าสนใจในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่อนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล ดังนี้
1. หอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น เห็นด้วยกับการมุ่งมั่นตั้งใจยกระดับรายได้เพื่อแรงงานไทยในประเทศไทยและวิถีชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น แต่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ส่วนการยกระดับรายได้ลูกจ้างให้สูงขึ้น ก็สามารถทำได้โดยกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งกฎหมายบัญญัติกำหนดไว้แล้วเช่นกัน
2. ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงผลการศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) อีกทั้ง ปัจจุบัน รัฐบาลได้ดำเนินการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2567 ไปแล้ว 2 ครั้ง จึงไม่ควรมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีเป็นครั้งที่ 3
3. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ แต่การปรับอัตราจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงาน ให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity)
4. การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจก่อนปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจดังกล่าว
อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลยืนยันที่จะให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงกระบวนการและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตัวเลขการปรับที่เหมาะสมสอดคล้องกับแนวทางที่ได้รับการยอมรับมาโดยตลอดจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่ามีความยุติธรรมกับผู้ที่มีส่วนได้เสีย ซึ่งนำไปสู่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบยั่งยืน ไม่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ตามมาในอนาคต ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ จำเป็นที่จะต้องรักษาสิทธิในการดำรงไว้ของหลักนิติธรรม (The Rule of Law) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกภาคเอกชนที่มีส่วนได้เสียในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวต่อไป
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 กล่าวว่า หลังจากนี้จะรวบรวมความเห็นจากสมาคมการค้า ส่งให้รมว.แรงงาน ในวันที่ 13 พ.ค. ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ในวันที่ 14 พ.ค. นี้
"การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ยังหาหลักการทางกฎหมายไม่เจอ ซึ่งเอกชนไม่เคยปฏิเสธความหวังดีของรัฐบาลในการเพิ่มรายได้ แต่ขอให้เพิ่มตามความเหมาะสม และตามกฎหมายเท่านั้น อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วนั้นการปรับค่าแรง 400 บาททั่วประเทศนั้น แรงงานไทยจะได้เท่าไหร่" นายพจน์ กล่าว
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วกันทั้งประเทศ เป็นการกระชากด้วยนโยบายของการหาเสียง ไม่ใช่หลักธรรมชาติของการปรับไปตามกลไกทางธุรกิจ และการกระชากครั้งนี้จะซ้ำเติมผู้ประกอบการ เพิ่มต้นทุนท่ามกลางค่าครองชีพที่สูง และยังจะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยด้วย
โดยในปี 54 ที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำในครั้งเดียวเป็น 300 บาททั่วประเทศ เป็นการปรับกระชากครั้งเดียวถึง 40% โดยข้อมูลจากสำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักคณะกรรมการกลางคณะกรรมการค่าจ้าง ระบุว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการ 50% บอกว่าปรับตัวไม่ได้และมีปัญหาเรื่องต้นทุน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการจ้างงาน สินค้าที่ไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ แสดงให้เห็นว่าการปรับค่าแรงในครั้งนั้นมีปัญหา
"การปรับค่าแรงตามสภาพเศรษฐกิจ ตามการตกลงระหว่างรัฐ แรงงาน และนายจ้าง เห็นพ้องต้องกันว่าปรับไปตามภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ และความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน และจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า นายจ้างมองว่าควรปรับไปตามกลไก ส่วนลูกจ้างก็มีความเข้าใจ และเห็นว่าการปรับค่าแรงกระชากเกินทำให้ผู้ประกอบการมีผลกระทบ ควรปรับไปตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว