ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับลดประมาณการ GDP ไทยปี 67 มาที่ 2.2-2.7% เนื่องจาก มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม จากภาคการส่งออกมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้เพียง 0.5-1.5% ตามทิศทาง การค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะเดียวกัน ยังปรับลดประมาณการเงินเฟ้อมาที่ 0.5-1%
กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ของ กกร.
%YoY ปี 67 (ณ มี.ค.67) ปี 67 (ณ เม.ย.67) ปี 67 (ณ พ.ค.67) GDP 2.8-3.3% 2.8-3.3% 2.2-2.7% ส่งออก 2.0-3.0% 2.0-3.0% 0.5-1.5% เงินเฟ้อ 0.7-1.2% 0.7-1.2% 0.5-1.0%
กกร. มองว่า การค้าโลกในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลด คาดการณ์การค้าโลกปี 67 จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 3.3% เหลือ 3% และปรับลดคาดการณ์การส่งออกของประเทศ Emerging Markets จากเดิมโตได้ 4.1% เหลือ 3.7%
โดย IMF ประเมินว่า ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-อิหร่าน ที่ยกระดับขึ้นจะกระทบต่อ ปริมาณการค้าโลก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือเป็นปัจจัยลบต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยในระยะข้างหน้า ทำให้คาดว่าการส่งออกจะเติบโต ได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม
ในส่วนของเศรษฐกิจไทย ชะลอตัวจากการส่งออกสินค้าและการผลิตที่ฟื้นตัวได้ช้า มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกของปี ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัญหาเชิงโครงสร้างและการค้าโลกที่เติบโตได้จำกัด ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรก
นอกจากเรื่องภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า ได้แก่ 1. ความผันผวนของค่าเงิน ตามการเปลี่ยนแปลง ของแนวโน้มนโยบายการเงินสหรัฐฯ และ 2. การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ที่เริ่มเบิกจ่ายได้จะช่วยหนุนการเติบโตของกิจกรรม ทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้
ทั้งนี้ กกร.เห็นว่าการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการมีมาตรการ สนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ และเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่นักท่องเที่ยวจากยุโรปและตะวันออกกลางมีแนวโน้มลดลงจากผลกระทบของ สงคราม อย่างไรก็ตาม คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีจะยังอยู่ที่ราว 35 ล้านคน ตามที่คาดไว้เดิม เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากเอเชียมี การฟื้นตัวที่ค่อนข้างดี
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) กล่าวว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนี้ เป็นช่วงเวลาเหมาะสมอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะได้หันหน้ามาหารือกัน เพื่อหาแนวทางแก้ไข เพราะเครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ เดินหน้าต่อไปได้มีเพียง 2 ตัว คือ การท่องเที่ยว และ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ
"อยากให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ไขปัญหา โดยเอาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง หากยังมีความเห็นขัดแย้งกันก็จะแก้ไข ปัญหาไม่ได้เต็มที่" นายเกรียงไกร กล่าว
ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น ผู้ประกอบการทุกคนต้องอยากให้ลดลงอยู่แล้ว เพราะช่วยลดต้นทุน แต่จะให้ลดลงมาเท่า ไหร่นั้นคงตอบไม่ได้
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กกร.เป็นองค์กรที่เป็นกลาง ไม่ยุ่ง เกี่ยวกับการเมือง มุ่งแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ กรณีรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความขัดแย้งกันนั้น หากมีการพูดคุยกัน ดีๆ น่าจะหาทางออกร่วมกันได้ เพราะหวังทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติเหมือนกัน เพียงแต่มีมุมมองแตกต่างกัน