นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า เตรียมมอบหมายให้กรมสรรพากรไปศึกษาการนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กลับมาดำเนินการอีกครั้ง ภายหลังจากที่นายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง ให้นโยบายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยต้องให้หน่วยงานกลับไปพิจารณากลไกและรายละเอียดก่อน เพราะมีอีกหลายส่วนที่จะต้องหารือ
"ตามที่ รมว.คลัง ระบุว่าอยากจะทำ LTF อีกครั้ง ก็พร้อมรับนโยบาย แนวคิด และเตรียมที่มอบหมายให้ สรรพากรไปศึกษา และพิจารณารายละเอียดต่างๆ ส่วนจะหารือกับหน่วยงานอื่นหรือไม่ คงยังไม่ใช่ในเร็วๆ นี้" นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า จะมีการหารือกับ 3 กรมจัดเก็บภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เพื่อติดตามภาพรวมการจัดเก็บรายได้ โดยการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 ยังมั่นใจว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย แม้ว่าภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณจะต่ำกว่าเป้าหมายก็ตาม เพราะที่ผ่านมาได้มีการพูดคุย และหารือในรายละเอียดกับหน่วยงานจัดเก็บภาษีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหน่วยงานก็ได้ให้ความมั่นใจว่าจะเป็นไปตามแผนการณ์แน่นอน
"เชื่อว่าเมื่อถึงสิ้นปีจะสามารถจัดเก็บได้ตามเป้าหมาย ยังไม่มีประเด็นเพิ่มเติม ยกเว้นกรณีกลางปีมีมาตรการหรืออะไรเปลี่ยนแปลง แต่ขณะนี้ยังไม่เป็นข้อห่วงใย" นายจุลพันธ์ กล่าว
ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีของกระทรวงการคลังนั้น ไม่ได้มองแค่ระยะสั้น แต่เป็นที่ทราบกันดีว่ากลไกในการปรับโครงสร้างภาษีไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่ประชาชนยังลำบาก หนี้ครัวเรือนสูง อาจจะยังไม่ใช่เวลาที่ใครจะมาคิดปรับโครงสร้างภาษี แต่ต้องมาพิจารณาดูว่ามีกลไกอะไรในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ ซึ่งเป็นสิ่งที่หน่วยงานจัดเก็บมีการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น ต้องมาพูดคุยหารือกันว่า กลไกในการเพิ่มประสิทธิภาพเป็นอย่างไร แต่การดำเนินการจะต้องไม่เป็นภาระกับใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยที่รัฐบาลจะยังมีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทำสวัสดิการให้ประชาชน
สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน Joint Venture Asset Management Company (JV AMC) ระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน กับบริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บบส.) หรือ BAM ว่า จะมีความชัดเจนไม่เกิน 2 เดือนนี้อย่างแน่นอน โดยคาดว่าจะมีการแถลงข่าวรายละเอียดเบื้องต้นในช่วงปลายเดือน พ.ค. 67 โดยเรื่องนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อสามารถเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยผ่านการรับซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหารจัดการ หรือช่วยในการตัดลดมูลหนี้ลง เชื่อว่า ภายในสิ้นเดือนนี้ จะมีความชัดเจนที่เป็นรูปธรรมในเรื่องดังกล่าว
"รายละเอียดทั้งหมดยังต้องรอก่อน ทั้งเรื่องการถือหุ้นของแต่ละฝั่งเป็นเท่าไหร่ ทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนการหารือ ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะต้องนำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการของหน่วยงานอีกครั้ง โดยเข้าใจว่าเรื่องนี้ล่าช้ามาระยะหนึ่งแล้ว เพราะมีรายละเอียดที่ต้องพูดคุยกันมาก ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากความเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่ขณะนี้เชื่อว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว" นายจุลพันธ์ กล่าว